วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นกแก้วโม่ง - Alexandrine Parakeet

นกแก้วโม่ง - Alexandrine Parakeet
แก้วโม่ง (Psittacula eupatria) เป็นนกตระกูลนกแก้วขนาดเล็ก - กลาง ชื่อสามัญคือ Alexandrine Parakeet โดยชื่อนี้ เป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่ กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อครั้งยาตราทัพเข้ามาสู่ในทวีปเอเชีย โดยได้นำนกแก้วสายพันธุ์นี้กลับไปยังทวีปยุโรป

แก้วโม่งมีถิ่นกำเนิดแพร่กระจายทั่วไปในแถบทวีปเอเชีย ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอัฟกานิสถาน, ไล่ลงไปยังอินเดีย, อินโดจีน เช่น พม่า หรือ ประเทศไทยฝั่งตะวันตก รวมทั้งยังพบได้ตามหมู่เกาะในทะเลอันดามัน

แก้วโม่งมีความยาววัดจากหัวถึงปลายหางได้ราว 57-58 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเขียว จงอยปากมีลักษณะงุ้มใหญ่สีแดงสด บริเวณหัวไหล่จะมีแถบสีแดงแต้มอยู่ทั้งสองข้าง นกเพศผู้และเมียสามารถแยกแยะได้เมื่อนกโตเต็มที่ กล่าวคือในเพศผู้จะปรากฏมีแถบขนสีดำและสีชมพูรอบคอที่เรียกกันว่า "Ring Neck" ซึ่งในนกเพศเมียไม่มีเส้นที่ปรากฏดังกล่าว

แก้วโม่ง มีสายพันธุ์ย่อยลงไปอีก 4 สายพันธุ์ คือ P.e. nipalensis พบมากใน Ceylon และทางใต้ของอินเดีย P.e. magnirostris พบในบริเวณหมู่เกาะอันดามัน P.e. avensis พบในเขตรัฐอัสสัม,พม่า P.e. siamensis พบได้ในภาคตะวันตกของประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียตนาม

ความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ย่อยนั้น อาจมีต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของ ขนาด, ความยาว และสีสันที่ปรากบนลำตัว

อาหารของแก้วโม่ง ในธรรมชาติ ประกอบด้วย เมล็ดพืชต่าง ๆ ผลไม้หลากชนิด ใบไม้อ่อน ฯลฯ

แก้วโม่งจัดเป็นนกแก้วที่มีเสียงร้องค่อนข้างดัง และมักเลือกที่จะทำรังตามโพรงไม้ใหญ่ ๆ โดยใช้วิธีแทะหรือขุดโพรงไม้จำพวกไม้เนื้ออ่อน หรืออาจเลือกใช้โพรงไม้ที่เก่าต่าง ๆ โดยในฤดูผสมพันธุ์ซึ่งจะแตกต่างกันตามลักษณะสายพันธุ์ย่อย อันเกี่ยวเนื่องกับอุณหภูมิและสภาพทางภูมิศาสตร์ แต่โดยเฉลี่ยจะเริ่มจากเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงราวปลายเมษายน โดยในระหว่างฤดูผสมนี้เพศเมียจะค่อนข้างแสดงอาการดุ และกร้าวร้าวมากขึ้น

แก้วโม่งวางไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 2-4 ฟอง

แก้วโม่งจัดเป็นนกแก้วที่นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ เพราะพบว่าเป็นนกแก้วที่มีความสามารถในการเลียนเสียงต่าง ๆ โดยเฉพาะเสียงมนุษย์ได้ดี ปัจจุบันนกแก้วโม่งจัดเป็นนกที่อยู่ในบัญชีคุ้มครอง 2 ของอนุสัญญาไซเตส รวมทั้งเป็นนกที่กฎหมายให้ความคุ้มครองในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน

แก้วโม่งเป็นนกที่ได้รับการนำมาเพาะพันธุ์โดยมนุษย์ประสบผลสำเร็จ ทำให้แนวทางในลดปัญหาจากลักลอบจับหรือล่านกแก้วโม่งป่า เพื่อการค้า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

สำหรับการเลี้ยงนกแก้วโม่งในครอบครองนั้น ผู้เลี้ยงควรต้องศึกษาในเรื่องของพฤติกรรมความเป็นอยู่, ลักษณะนิสัย รวมทั้งการจัดการด้านอาหารและสถานที่เลี้ยงให้ถูกต้อง เพราะการเลี้ยงนกที่ผิดไปจากธรรมชาติถิ่นที่อยู่เดิมนั้น ปัญหาประการหนึ่งก็คือ "ความเครียด" ของนก ดังนั้น การจัดหาความพร้อมทั้งสถานที่,อุปกรณ์ อาหารการกินที่เหมาะสม อาจช่วยให้นกได้รู้สึกมีความสุขและลดความเครียดลง รวมทั้งยังพร้อมที่จะตอบสนองต่อการเป็นนกในฐานะสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ได้อย่างมีความสุข และมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นกจาบคาหัวเขียว - Blue-tailed Bee-ester

Blue-tailed Bee-esterนกจาบคาหัวเขียว (Blue-tailed bee-eater) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Merops philippinus เป็นนกในตระกูล Meropidae จัดเป็นนกอพยพชนิดหนึ่ง มีแหล่งผสมพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางครั้งอาจถูกจัดให้อยู่ในสปีชีส์เดียวกับนกจาบคาแก้มฟ้า (Merops persicus)

นกชนิดนี้มีรูปร่างเพรียว มีสีสันสวยงาม โดยจะมีสีเขียวเด่นเป็นพิเศษ บริเวณใบหน้ามีแต้มสีฟ้าเล็กๆ และมีแถบยาวสีดำอยู่ตรงดวงตา ขนที่คอเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล หางเป็นสีห้า และจงอยปากสีดำ สามารถเจริญเติบโตได้ยาว 23-26 เซนติเมตร โดยรวมความยาวของขนหางตรงกลางสองเส้นที่ยาวกว่าบริเวณอื่นด้วย

นกจาบคาหัวเขียวมีแหล่งผสมพันธุ์ในพื้นที่ชนบทกึ่งเขตร้อน อย่างเช่นในไร่ สวน นาข้าว หรือสวนสาธารณะ มักพบได้บ่อยครั้งบริเวณใกล้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กินแมลงชนิดต่างๆเป็นอาหารเหมือนนกจาบคาชนิดอื่น โดยเฉพาะผึ้ง ต่อ และแตน โดยจะโผลบินพุ่งออกจากที่พักเกาะไปจับเหยื่อกลางอากาศ เหยื่อจะถูกจับกลับไปที่พักเกาะ แล้วใช้จงอยปากจิกเหยื่อจนตายและเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มร่างกายแตกออก สำหรับนกจาบคาชนิดนี้ พบว่าเหยื่อที่ล่ามีทั้งผึ้งและแมลงปอในปริมาณที่มากพอๆกัน

นกจาบคาหัวเขียวชอบสร้างรังอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ตามริมฝั่งแหล่งน้ำที่เป็นทรายหรือพื้นที่ราบเปิดโล่ง รังมีลักษณะเป็นเหมือนอุโมงค์ค่อนข้างยาว นกชนิดนี้จะวางไข่ทรงกลมสีขาวครั้งละ 5-7 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเฝ้าดูแลไข่ด้วยกัน นอกจากนี้ เวลาออกหากินหรือพักเกาะตามที่สูง ก็มักจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเช่นกัน

ลักษณะทั่วไป
ทั้งตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ปากสีดำไม่โค้งแหลมมากนัก หัวหลังและขนคลุมหลังตลอดจนปีกเป็นสีเขียวครึ่งของหลัง ขนคลุมโคนหางและหางเป็นสีน้ำเงิน มีขนคู่กลางของหางแหลมยื่นยาวออกไปประมาณครึ่งหนึ่งของหาง บริเวณแถบหน้าของตาและหลังของตาเป็นแถบสีดำ ม่านตาสีน้ำตาลแดง ถัดขอบตาลงมาเป็นสีขาวอมเหลือง ใต้คอเลยหน้าอกนิดๆเป็นสีน้ำตาล ท้องสีเขียวอ่อน ตีนดำ เวลาบินรูปปีกจะมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ใต้ปีกเป็นสีน้ำตาล กึ่งบินกึ่งร่อน ขณะบินส่งเสียงร้องกริ๊วๆๆไปด้วย ชาวบ้านจึงชอบเรียก "นกกะติ้ว" ขนาดประมาณ 30 ซม.เมื่อโตเต็มวัยจากปลายปากถึงปลายหาง จะเจาะรูทำรังอยู่ริ่มตลิ่งที่ค่อนข้างสูงชันมีลักษณะดินปนทราย ลึกประมาณ 60 ซม. 90 ซม. วางไข่ประมาณ 2 - 4 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูก อาหารจะเป็นพวกแมลงที่บินอยู่กลางอากาศ เช่น แมลงปอ ผีเสื้อ จะไม่กินอาหารหรือแมลงที่ตายแล้วหรืออยู่กับที่

ถิ่นที่อยู่อาศัย
เนปาล, อินเดีย, ศรีลังกาและไทย สำหรับประเทศไทยมีทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่น ในส่วนบริเวณภาคกลางและริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยจะเป็นนกประจำถิ่น แต่สำหรับทางภาคเหนือจะเป็นนกที่อพยพเข้ามาหากิน และผสมพันธุ์ ส่วนภาคอื่นหรือบางส่วนก็จะหากินสักพักแล้วอพยพผ่านไป

--------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลจาก...Outdoor Adventure Magazine (นิตยสารท่องธรรมชาติ)/Vol.1/No.12/May 1995
โดย...มงคล วงศ์กาฬสินธุ์

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า - Blue-winged Leafbird

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (ชื่อสามัญ: Blue-winged Leafbird ชื่อวิทยาศาสตร์: Chloropsis cochinchinensis) เป็นชนิดพันธุ์หนึ่งของสกุลนกเขียวก้านตอง ลักษณะพิเศษคือมีแถบสีฟ้าที่ขอบปีกด้านนอก ยาวตั้งแต่หัวปีกถึงปลายปีก โดยความเข้มอ่อนขึ้นอยู่กับอายุและชนิดพันธุ์ย่อยของนก ชนิดพันธุ์นี้พบครั้งแรกในเขตโคชินไชน่า (ปัจจุบันคือเวียดนามใต้) จึงนำชื่อสถานที่พบมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า cochinchinensis

ลักษณะทางกายภาพ

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้ามีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 19 เซนติเมตร ลำตัวอยู่ในแนวนอน บริเวณตะโพกมีขนยาวและฟูเช่นเดียวกับนกปรอด ปากยาว เรียวโค้ง และมีความยาวพอๆกับหัว เหมาะที่จะใช้สอดเข้าไปในกรวยดอกไม้เพื่อดูดกินน้ำหวานตอนปลายปากงุ้มลงเล็กน้อย รูจมูกเป็นรูปไข่ ขนที่หน้าผากยาวลงมาถึงรูจมูก ที่มุมปากมีขนเส้นเล็กๆแข็งๆ สั้นๆ มองเห็นไม่เด่นชัดนัก ปีกมนกลม ขนปลายปีกมี 10 เส้น ขนหางมี 12 เส้น หางยาวตัดตรง ขาและนิ้วเท้าสีเทาอมฟ้า ขาท่อนล่างสั้นมาก นิ้วเท้าเล็กยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้วยื่นไปข้างหลัง 1 นิ้ว

ส่วนบนของลำตัวตั้งแต่หลังคอ หลัง ไหล่ ตะโพก จนถึงขนคลุมโคนหางด้านบน เป็นสีเขียวสดเช่นเดียวกับบนหัวและท้ายทอย ปีกสีเขียวเข้มแต่มีแถบสีฟ้าสะท้อนแสงที่ขนคลุมปีกเห็นได้ชัดเจน และครีบขนด้านนอกของขนปลายปีกทุกเส้นเป็นสีฟ้า แต่เห็นไม่ค่อยชัดเพราะนกมักหุบปีกตลอดเวลา แต่ถ้าหากนำไปเทียบกับนกเขียวก้านตองชนิดอื่นแล้ว จะเห็นว่านกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า มีปีกสีออกฟ้าชัดเจนกว่าแม้ว่าจะมิได้มีสีฟ้าทั่วทั้งปีก ขนหางคู่กลางเป็นสีเขียวเข้มเช่นเดียวกับปีกแต่ขนหางที่เหลืออีก 5 คู่เป็นสีฟ้าเช่นเดียวกับครีบขนด้านนอกของขนปลายปีก

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเป็นนกที่มีความแตกต่างระหว่างเพศ แบบเห็นได้ชัด โดยเพศผู้จะมีขนรอบดวงตา รอบปาก และบริเวณคางเป็นสีดำ ภายในแถบสีดำยังมีขีดสั้นๆ เฉียงๆ สีน้ำเงินอยู่สองข้างคางอีกด้วย แต่ไม่ชัดเจน นอกจากนี้รอบแถบสีดำจะมีแถบสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งค่อยๆกลมกลืนส่วนบริเวณหัวจะมีสีเขียวออกไปทางเหลือง หน้าผากและแถบสั้นๆเหนือตาเป็นสีเหลืองสดใส แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียวสดทางตอนบนและด้านข้างของหัว บริเวณท้ายทอยเจือสีทองเล็กน้อย ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้มักเข้าใจผิดว่าเป็นนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง แต่จุดที่ต่างคือสีเหลืองจะไม่เข้มมาก และแถบสีฟ้าที่ปีกจะดูเด่นชัดกว่า
แถบสีฟ้าที่ปีกมักเห็นได้ชัดจนเป็นเอกลักษณ์นกที่ยังไม่เต็มวัย ทั้งสองเพศจะมีสีเขียวตลอดตัว และมีสีเหลืองแซมเล็กน้อยที่ท้ายทอย แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์มีแถบสีฟ้าสดใสที่ ขนคลุมปีก ขนปลายปีก ขนหางคู่นอก สีฟ้าจะดูหม่นกว่านกเพศผู้ตัวเต็มวัยเล็กน้อย

ชนิดย่อย C. c. flavocineta (นกเขียวก้านตองคินาบาลู) ซึ่งพบบนเทือกเขาคินาบาลู ในตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว นกเพศเมีย จะมีแถบสีดำที่คาง หัวตา ใต้ตา และ ใต้คอ เช่นเดียวกับนกตัวผู้ แต่ไม่มีแถบสีเหลืองล้อมรอบ

ชนิดพันธุ์ย่อยและถิ่นอาศัย

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าชวา เพศผู้นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า เป็นนกเขียวก้านตองที่มีชนิดพันธุ์ย่อย(สปีชีส์ย่อย) มากที่สุดในบรรดานกเขียวก้านตองทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 10 ชนิดย่อยดังนี้

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าศรีลังกา หรือ นกเจอร์ดอน ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. jerdoni มีถิ่นอาศัยบริเวณที่ราบสูงเดคคานประเทศอินเดีย จนถึงศรีลังกา ตั้งชื่อเป็นเกียรติกับ โทมัส เจอร์ดอน นักพฤกษศาสตร์ และสัตววิทยาชาวอังกฤษ เป็นสายพันธุ์ที่สีฟ้าของปีกจางที่สุดจนเกือบมองไม่เห็น

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าพายัพ ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. chlorocephala ชนิดย่อยนี้มีการแพร่กระจายกว้างขวางมากที่สุด ในประเทศไทยพบในเขตพื้นที่มณฑลพายัพ และฟากตะวันตกของมณฑลมหาราษฎร์เดิม ยาวลงไปจนถึงคอคอดกระ อันได้แก่พื้นที่เขตทิวเขาแดนลาว ทิวเขาอินทนนท์ ทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาขุนตานและทิวเขาผีปันน้ำ ข้ามเข้าไปในเขตประเทศพม่า อันได้แก่พื้นที่เกือบทั้งหมดของพม่า ยกเว้นเขตตะนาวศรีตอนใต้ และยังพบในบังคลาเทศ และรัฐอัสสัมและมณีปุระ ของอินเดีย

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าคินเนียริ ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. kinneari มีถิ่นอาศัยบริเวณทางตะวันออกของมณฑลมหาราษฎร์เดิมอันได้แก่ฟากตะวันออกของทิวเขาผีปันน้ำ และพื้นที่ทั้งหมดทิวเขาเพชรบูรณ์ และทิวขาหลวงพระบาง ข้ามไปยังแขวงไซยะบูลี และพื้นที่ของประเทศลาวตั้งแต่แขวงสะหวันนะเขตขึ้นไปทางเหนือ นอกจากนี้ยังพบในสิบสองปันนา และตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโคชินไชน่า ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. cochinchinensis เป็นชนิดพันธุ์แรกที่ค้นพบ มีถิ่นอาศัยบริเวณทิวเขาสันกำแพง ทิวเขาพนมดงรัก ทิวเขาจันทบุรี ทิวเขาบรรทัด เข้าไปในประเทศกัมพูชา และประเทศลาวตั้งแต่แขวงสาละวันลงมา และประเทศเวียดนามตอนใต้

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเสรีไทย หรือ นกเสรีไทย ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. serithai ค้นพบครั้งแรกที่บ้านท่าล้อ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย Herbert g. Deignan ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับขบวนการเสรีไทย มีถิ่นอาศัยบริเวณทางตอนใต้ของเขตตะนาวศรีในประเทศพม่า และในประเทศไทยตั้งแต่คอคอดกระลงมาจนถึงจังหวัดตรัง

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโมลุกกะ ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. moluccensis พบที่หมู่เกาะโมลุกกะ แต่ตามบันทึกนั้นพบครั้งแรกที่มะละกา ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ส่วนในอินโดนีเซียพบที่หมู่เกาะโมลุกกะ และอิเรียนจายา

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าสุมาตรา ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. ictercephala มีถิ่นอาศัยบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าชวา ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. nigricollis มีถิ่นอาศัยบริเวณเกาะชวา เกาะบาหลี และเกาะอื่นๆในเขตหมู่เกาะซุนดาน้อย ของประเทศอินโดนีเซีย ในเพศผู้จะไม่มีสีเหลืองที่หัวมากเหมือนกับพันธุ์ไทย และขนสีดำที่คางกินอาณาบริเวณน้อยกว่า

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าบอร์เนียว ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. viridinucha มีถิ่นอาศัยบริเวณที่ราบของเกาะบอร์เนียว ในเขตประเทศอินโดนีเซีย

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าคินาบาลู ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. flavocineta มีถิ่นอาศัยบริเวณภูเขาสูงของเกาะบอร์เนียว ซึ่งพบได้มากที่ภูเขาคินาบาลู ประเทศมาเลเซีย นกเพศเมีย จะมีแถบสีดำที่คาง หัวตา ใต้ตา และ ใต้คอ เช่นเดียวกับนกตัวผู้ แต่ไม่มีแถบสีเหลืองล้อมรอบ

นอกจากทั้ง 10 ชนิดพันธุ์ย่อยแล้ว นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ นกเขียวก้านตองหน้าผากทองเกือบทุกประการ เว้นแต่สีขนบริเวณหน้าผาก ซึ่งจะมีสีทองเพิ่มขึ้นมา

อาหาร

นกเขียวก้านตอง เป็นนกที่กินลูกไม้ น้ำหวานดอกไม้ และแมลงเป็นอาหาร โดยมีลิ้นที่เรียวเล็ก เป็นอุปกรณ์ในการกินน้ำหว่านจากดอกไม้ นกเขียวก้านตองมักชอบกระโดดหากิน ตั้งแต่บนกิ่งต่ำๆ ของต้นไม้ ระดับกลางของลำต้น จนกระทั่งถึงยอดไม้ เป็นนกที่ขยันหากินไม่ค่อยอยู่นิ่ง มักจะง่วนอยู่กับการกระโดดไปมาระหว่างกิ่งไม้ เพื่อคอยจิกกินหนอนและแมลงต่างๆ ที่เกาะอยู่ตามกิ่งและใบไม้ เช่น ตั๊กแตนใบไม้ ตั๊กแตนตำข้าว มดแดง และด้วงหนวดยาว แม้แต่แมงมุม หรือหอยทากตัวเล็กๆ และดูเหมือนว่าในขณะหากินนั้น นกเขียวก้านตองไม่ใคร่สนใจอะไร ไม่ค่อยระแวดระวังภัย และบางครั้งก็ค่อนข้างเชื่อง แม้ว่าคนจะเดินไปส่องกล้องดูอยู่ ใต้ต้นไม้ที่นกเขียวก้านตองกำลังกระโดดหากินนั้น นกเขียวก้านตองก็ไม่บินหนีไปไหน

วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นกขุนทอง - Hill Myna

นกขุนทอง (Gracula religiosa)
นกขุนทอง (Gracula religiosa) หรือนกเอี้ยงคำ เป็นสัตว์ปีกในตระกูลนกเอี้ยง มีถิ่นอาศัยอยู่ทั่วไปในเอเชียใต้ มีนิสัยพูดเก่งเหมือนนกแก้ว จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นนิยมสูง

ถิ่นที่อยู่อาศัย
ถิ่นแพร่พันธ์หลักของนกขุนทองพบได้ในบริเวณโคนเทือกเขาหิมาลัย ไกล้เขตแดนอินเดีย เนปาล และ ภูฏาน แต่พบได้ใน ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม สุมาตรา อินโดนีเซีย และ บอร์เนียว และถูกนำเข้าไปอเมริกาด้วย
สร้างรังบนกิ่งไม้สูง อาศัยอยู่เป็นกลุ่มประมาณหกตัวขึ้นไป

ลักษณะทั่วไป
ลำตัวป้อมสีดำ มีเหนียงสีเหลืองอมส้มคลุมทั่วท้ายทอยและเหนียงสีเหลืองแดงสดใต้ตา ขนาดประมาณ 29 ซม. ขนสีดำเหสือบเขียว มีเงาสีม่วงบริเวนหัวและคอ มีสีขาวแซมใต้ปีก ปากสีแดงส้ม ขาสีเหลืองสด ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน
ชอบร้องเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำ ร้องเป็นเสียหวีดสูงตามด้วยเสียงอื่นๆ เคลื่อนไหวบนกิ่งโดยเน้นการกระโดดข้างแทนการเดินต่างจากนกเอี้ยงทั่วไป
เพศผู้และเพศเมียมีลักษณะเหมือนกัน ไม่สามารถดูได้จากตาเปล่า จะต้องใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ เช่น DNA sexing, การตรวจเลือด
นกขุนทองมีอายุประมาณ 10-20 ปี

เสียงร้อง
นกขุนทองนั้นมีชื่อเสียงเรื่องเสียงร้องหลากหลายชนิด ทั้งหวีด กรีดร้อง กลั้ว ร้องเป็นทำนอง รวมถึงเลียนแบบเสียงมนุษย์ ซึ่งทำได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย นกหนึ่งตัวจะมีเสียงร้องตั้งแต่ 3 ถึง 13 ชนิด มีการเลียนแบบเสียงร้องกันโดยเฉพาะในเพศเดียวกัน แต่รัศมีในการเรียนรู้นี้ส่วนใหญ่น้อยกว่า 15กิโลเมตรลงไป
มีความเข้าใจผิดทั่วไปว่านกขุนทองนั้นชอบเลียนแบบเสียงร้องนกพันธุ์อื่นๆ แต่ที่จริงแล้วพฤติกรรมนี้ไม่มีโดยธรรมชาติ แต่เฉพาะในสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

อาหาร
นกขุนทองกินทุกอย่างทั้งพืชและสัตว์ เช่นผลไม้ ลูกไม้ น้ำดอกไม้ และแมลงต่างๆ
นกขุนทองไม่สามารถดูดน้ำได้ พวกมันจะใช้การจุ่มปากลงไปในน้ำเพื่อให้น้ำเข้าปาก จากนั้นมันจะยกหัวขึ้นเพื่อให้น้ำเข้าไปในคอหอย วิธีการนี้เป็นวิธีที่พวกมันจะกินน้ำได้ง่ายที่สุด

พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
อาศัยตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ชอบเกาะยอดกิ่งไม้สูง ๆ อยู่กันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ตามป่าลึกเชิงเขามีชุกชุม เชื่องคน คนนิยมเลี้ยงเพราะสามารถพูดเลียนเสียงคน นกขุนทองผสมพันธุ์เดือนเมษายน-มิถุนายน ทำรังออกไข่ในโพรงไม้สูง ปูโพรงด้วยเศษหญ้าแห้ง ขน สิ่งสกปรก ตลอดจนเปลือกไม้ ไข่ชุดละ 2-3 ฟอง

โดยทั่วไปการหลับของนกขุนทองจะเป็นการหมอบหรือย่อตัวบนคอน, รังของมัน มันจะหดตัวลงมาที่บ่า ใบหน้าตั้งตรงและปิดตา ถ้าเราสังเกตดูจะพบว่ามันมักจะหลับตลอดทั้งวัน บางครั้งมันอาจจะยืนขาเดียวในระหว่างที่มันพักผ่อน นาน ๆ ครั้งมันจะเอาหัวเข้าไปหลบในขน นกขุนทองมักจะงีบหลับตลอดทั้งวัน แต่มันจะนอนหลับในเวลากลางคืน

นกขุนทองชอบการอาบน้ำมาก พวกมันมักจะเล่นน้ำอย่างน้อย 2 ครั้งต่อ 1 วัน หลังจากอาบน้ำ มันมักจะสะบัดตัวและไซร้ตามขนเพื่อให้ตัวแห้ง นกขุนทองมักจะสั่นหัวเพื่อให้น้ำที่หูออกมา พวกมันจะจามเพื่อเอาน้ำออกจากรูจมูก การอาบน้ำของนกขุนทองมักเกิดในเวลาว่าง

สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช

สำหรับในประเทศไทย พบว่ามีนกขุนทองอยู่ 2 ประเภท คือ

  1. ขุนทองเหนือ (Gracula religiosa intermedia : G.r. intermedia)
    จะมีรูปร่างเล็กกว่าขุนทองใต้ เหนียงแก้มจะมีลักษณะเป็นแผ่นยาวตลอดเป็นชิ้นเดียวกันทั้งแผ่น
    พบในบริเวณเหนือคอคอดกระขึ้นมา
  2. ขุนทองใต้ (Gracula religiosa : G.r. religiosa)
    จะมีขนาดใหญ่ แผ่นเหนียงใต้ตาจะมีรอยเว้าแยกออกเป็น 2 ส่วนไม่ติดกัน
    พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
    อาจจะเรียกว่า นกขุนทองควาย

ข้อมูลจาก www.vet.ku.ac.th

วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

นกแอ่นพง - Ashy Wood - swallow

นกแอ่นพง
นกแอ่นพง
นกแอ่นพง (Ashy Wood - swallow) มีรูปร่างคล้ายคลึงกับนกนางแอ่น แต่ชอบอยู่ตามป่า เป็นนกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 18 ซม. ปีกเป็นรูปสามเหลี่ยม

ลักษณะ
ตัวเต็มวัย สีเทาเข้ม แต่บริเวณอก และ ท้องสีจะจางกว่า ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีขาว มีลายพาดแคบๆ สีขาว ที่ขนคลุมโคนขนหางด้านบน และ ลายพาดสีขาว หรือ เทาที่ปลายหาง ปากสีน้ำเงินอ่อน หรือ เทา บริเวณหัวตาสีดำ , ลำตัว ส่วนอื่นๆ สีน้ำตาล โดยด้านบนจะเข้มกว่าด้านล่าง หางสีออกดำ
ตัวไม่เต็มวัย ลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่จะมีลายแต้มสีน้ำตาล แดง และ มีลายเกล็ดสีขาวบริเวณหลัง

นิสัย
นกแอ่นพงชอบเกาะรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ บนกิ่งไม้แห้งเด่นๆ ของต้นไม้สูง เวลาที่เกาะกิ่งอยู่นั้น ลำตัวตั้งตรง ปลายปีกยาวเลยปลายหางออกไป และ มักชอบกระดกหาง ขึ้นๆลงๆ หรือแกว่งหางไปทางซ้ายทีขวาที ในเวลาหลับนอนตอนกลางคืน นกแอ่นพงจะเกาะนอน เบียดกันแน่น มาก ฝูงหนึ่งจะมีนกราว 15 - 20 ตัว

อาหาร
นกแอ่นพงกินแมลง และ ชอบกินน้ำหวาน และ เกสรดอกไม้ ด้วย เพราะลิ้นของมัน มีลักษณะ คล้ายแปรง ใช้ในการดูดซับน้ำหวาน และ เกสรดอกไม้ได้

การขยายพันธุ์
ทำรังราวเดือน มีนาคม ถึง มิถุนายน วางไข่ครอกละ 2 - 3 ฟอง เปลือกไข่สีขาว หรือ เขียวอ่อน มีจุกกระเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน กระจายทั่วทั้งฟอง แต่จะหนาแน่นทางด้านป้า
นกแอ่นพง

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

นกพญาไฟสีเทา

นกพญาไฟสีเทา
นกพญาไฟสีเทา

นกพญาไฟสีเทา






นกพญาไฟสีเทา อยู่ในวงศ์ย่อย อีกา ซึ่งนกในวงศ์นี้มีขนาดเล็กมาก จนถึงขนาดกลาง และ รูปร่างภายนอกแตกต่างกันมาก ทั่วโลกมี 4 เหล่า ประเทศไทย มี 3 เหล่า คือ เหล่าอีกา เหล่านกแอ่นพง และ เหล่านกขมิ้น ซึ่ง นกพญาไฟสีเทา อยู่ในเหล่านกขมิ้น นกในเหล่านี้ ในประเทศไทย มี 5 สกุล คือ สกุลนกขมิ้น สกุลนกขี้เถ้าและนกเฉี่ยวบุ้ง สกุลนกเขนน้อยคิ้วขาว สกุลนกพญาไฟ และ สกุลนกเขนน้อย

สกุลนกพญาไฟ Genus Pericrocotus ชื่อสกุลมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ peri แปลว่า รอบๆ หรือ มาก croc หรือ Krotos แปลว่า สีส้ม ความหมายคือ " นกที่มีร่างกาย ส่วนใหญ่ เป็น สีส้ม " นกในสกุลนี้ มีลักษณะเด่นคือ มีสีค่อนข้างฉูดฉาด โดยเป็นสีแดง และ เหลือง , ปาก ยาวประมาณครึ่งหนึ่ง ของ ความยาวของหัว , ปาก แข็งแรง เป็นปากขอเล็กน้อย ตอนปลายเป็นรอยบาก รูจมูกทั้งหมดคลุมด้วยขน , ปีกยาว ปลายปีกแหลม , หางยาว เป็นหางบั้ง , ขา ไม่ค่อยแข็งแรง . ทั่วโลกมีนกในสกุลนี้ 13 ชนิด ประเทศไทยพบ 9 ชนิด คือ 1 นกพญาไฟสีกุหลาบ ( Rosy minivet ) 2 นกพญาไฟตะโพกสีน้ำตาล ( Brown - rumped Minivet หรือ Swinhoe's Minivet ) , 3 นกพญาไฟสีเทา ( Ashy Minivet ) , 4 นกพญาไฟเล็ก ( Small Minivet ) , 5 นกพญาไฟเล็กคอดำ ( Fiery Minivet ) , 6 นกพญาไฟคอเทา ( Grey - chinned Minivet ) , 7 นกพญาไฟพันธุ์เหนือ ( Long - tailed Minivet ) , 8 นกพญาไฟแม่สะเรียง ( Short - billed Minivet ) และ 9 นกพญาไฟใหญ่ ( Scarlet Minivet )

นกพญาไฟสีเทา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pericrocotus divaricatus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ divaric หรือ divaricare แปลว่า ส่วนที่แยกออกไป และ tus เป็นคำลงท้าย ความหมายคือ " นกที่มีลักษณะไม่เหมือน นกพญาไฟ อื่นๆ " หรือ นกที่มีส่วนอื่น ( หาง) ยื่นยาวออกไป มากเท่าความยาวของลำตัว

รูปร่างลักษณะ เป็นนกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจดหาง 20 ซม. ชนิดย่อยที่มีการแพร่กระจายมากที่สุด และ ใช้เป็นชนิดอ้างอิงหลัก คือ P . d . divaricatus มีรูปร่างลักษณะดังนี้ คือ

นกตัวผู้ บริเวณหน้าผาก และ ลำตัวด้านล่าง สีขาว มีเส้นสีดำลากผ่านตา , กลางกระหม่อม และ ท้ายทอย สีดำ โคนขนปีก มีลายแถบสีขาว เมื่อนกเกาะหุบปีกอาจมองเห็นไม่ชัด แต่ เห็นได้ชัดขณะบิน , ซึ่งนกตัวผู้บางตัว อาจไม่มีลาย สีขาว ที่กลางปัก , ขนหางคู่นอก ส่วนใหญ่เป็นสีขาว , ไหล่ และ ขนคลุมหางด้านบน สีเทา แต่ การที่หน้าผาก และ ลำตัวด้านล่าง มีสีขาวครีม เป็นลักษณะเด่น ที่เห็นได้แต่แรกของนกชนิดนี้

นกตัวเมีย ตั้งแต่ กระหม่อม ลงไปถึง ท้ายทอยสีเทา และ ลำตัวด้านล่าง สีเทา โดยที่บางส่วนของกระหม่อม จะมีสีเข้มบางส่วน มีแถบสีขาวลากจากหน้าผากผ่านตา และ มีแถบสีดำจางๆบริเวณหน้าผาก
นกในขนชุดฤดูแรก คล้ายนกตัวเมีย แต่ สีขาวที่ลำตัวด้านล่าง จะยังเป็นสีขาวตุ่นๆอยู่ ขากลางปักด้านที่ติดกับลำตัว มีสีดำ ขนคลุมกลางปีก มีขอบขนสีขาว ซึ่งมักเป็นลักษณะทั่วไป ของนกที่อยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ในปีนั้น ซึ่งจะมีลักษณะของขนใหม่ที่เพิ่งงอกยังไม่เต็มที่ ปะปนกับขนชุดวัยเด็กที่ยังผลัดไม่หมด เพราะนกจะไม่ผลัดขนพร้อมกันทั้งตัว แต่จะ ทยอย ผลัดขนบางส่วนที่ โดยเริ่มจากหัวลงไปหาลำตัวก่อน ( บางชนิดผลัดขนที่ลำตัวก่อน ) และ ผลัดขนปีก เป็นชุดสุดท้าย ก่อนจะเป็นนกที่มีขนแบบ นกที่โตเต็มวัย ( การดูลักษณะ การผลัดขนนี้ เป็นประโยชน์มาก ในการจำแนก ชนิด เพศ วัย และ อายุ ของ เหยี่ยว และ อินทรี )

นกที่ยังไม่เต็มวัย ไม่มีสีขาวที่กระหม่อม ลำตัวด้านบน มีลายแต้มสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่าง มักสีลายแถบสีเทา

นิสัยประจำพันธุ์ มักพบอยู่เป็นฝูง และ อาจพบหากินร่วมกับ นกกินแมลง ชนิดอื่น โดยเฉพาะ นกกระจิ๊ด , นกจับแมลง และ นกพญาไฟใหญ่ . มักเกาะตามยอดไม้ และ กิ่งไม้ในระดับ กลางต้น ถึง เรือนยอด แต่บางครั้งอาจบินไล่ตามแมลง ลงมาที่กิ่งต่ำๆได้

แหล่งอาศัยหากิน พบได้ในป่าหลายแบบ เช่น ตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าสนเขา ป่าชั้นรอง ป่าละเมาะ ป่าโกงกาง ป่าโปร่งตามชายฝั่งทะเล หย่อมป่าตามสันดอนปากแม่น้ำ . ช่วงที่อพยพมาถึงใหม่ๆ อาจพบตามสวนสาธารณะขนาดใหญ่ หรือ สถานศึกษาที่มีต้นไม้ปลูกไว้จำนวนมาก จนคล้ายสวนป่า ในพื้นที่ใกล้กรุงเทพ อาจพบได้ตามสถานที่ ที่มีลักษณะดังกล่าว เช่น สวนลุมพินี , สวนหลวง ร.9 , พุทธมณฑล ต. ศาลายา , ม.มหิดล วิทยาเขตศาลายา , ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน , สนามบินกำแพงแสน , ค่ายลูกเสือกำแพงแสน จ. นครปฐม เป็นต้น ปกติ พบได้ตั้งแต่พื้นราบ จนถึงระดับความสูง 1 , 200 เมตร จากระดับ น้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่จะพบ ตาม พื้นราบมากกว่า
อาหารได้แก่แมลง โดยการจิกกิน ตามยอดไม้ และ กิ่งไม้ ไม่บ่อยนัก ที่จะไล่จับกินแมลง กลางอากาศ ใกล้กิ่งที่เกาะ

ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ แหล่งทำรังวางไข่อยู่ทาง ตะวันออกเฉียงใต้ ของ ไซบีเรีย , Ussuriland , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แหล่งทำรังวางไข่ ของนกชนิดนี้ อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร การคมมาคมไม่มี หรือ ไม่สดวก จึงยังไม่มีการศึกษา และ ข้อมูล การทำรัง วางไข่ และระยะเวลาการ เลี้ยงลูกอ่อน ของนกชนิดนี้

การแพร่กระจายพันธุ์ นอกจากที่แหล่งทำรังวางไข่ในไซบีเรีย แล้ว ยังพบได้ใน ภาคเหนือ ภาคใต้ ของเกาหลี , ญี่ปุ่น . ในฤดูหนาว นกที่อาศัยในเขตหนาวทางตอนเหนือ จะอพยพย้ายถิ่น ลงใต้ มาหากินที่ สุมาตรา บอร์เนียว และ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ สำหรับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกอพยพในฤดูหนาว นอกฤดูผสมพันธุ์ที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ในประเทศแถบนี้ ยกเว้นไม่พบ ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของ เมียนม่าห์ , เขตเทนเนอซาลิม , ภาคตะวันตกของตังเกี๋ย และ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ของอันนัม ในเวียตนาม ) มีรายงานการพบเป็นนกอพยพผ่าน ของ กัมพูชา และ ภาคตะวันออก ของตังเกี๋ย

อนึ่ง รายงานการพบนก ตามประเทศทางแถบชายฝั่งทะเล เป็นแนวทางให้ทราบถึง เส้นทางการอพยพย้ายถิ่น ของ นกชนิดนี้ และ ใช้คาดคะเนชายฝั่งด้านที่นกจะอพยพขึ้นฝั่งได้ เพราะ นกอพยพ จะบินเข้าฝั่งจากเส้นทางที่สั้นที่สุด และ บินเลียบตามแนวชายฝั่ง ในกรณีพวกที่อพยพลงใต้ไป ถึงออสเตรเลีย มีพวกนกแอ่น และ นกทะเลบางชนิดเท่านั้น ที่แข็งแรงพอที่จะบินตัด ข้าม มหาสมุทร นอกนั้นส่วนใหญ่จะบินเลาะชายฝั่งทวีป จะบินตัดข้ามช่องแคบ เข้าหาแผ่นดิน โดยใช้ช่องทางข้ามผืนน้ำ ที่สั้นที่สุด เพราะการอพยพ ข้ามผืนน้ำ มีอันตรายมาก จากสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลง และ พายุที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นกพวกที่แข็งแรง และ บินในระดับสูงมากเท่านั้น ที่จะใช้เส้นทางตัดข้ามหาสมุทร ส่วนนกเล็กๆ ( Arctic warbler และ Arctic Tern เป็นข้อยกเว้นพิเศษ ) จะแวะพักเติมพลังงาน เป็นระยะๆ ตามแนวเลียบชายฝั่งทะเล ดังนั้น ป่าละเมาะเล็กๆ ตามชายฝั่งทะเล แถบ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร เป็นสถานที่ที่ นักดูนก ควรให้ความสนใจ ในตอนต้นของ ฤดูอพยพ ทั้งเที่ยวมา และ เที่ยวกลับ เพราะอาจพบนกอพยพหายาก ที่แวะพักก่อนอพยพลงใต้ หรือ กลับไปแหล่งผสมพันธุ์ทาง ตอนเหนือ

สำหรับประเทศไทย เป็นนกอพยพผ่าน และ นกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย เป็นนกพญาไฟ ที่พบได้ในที่ราบ อีกชนิดหนึ่ง คือ นกพญาไฟเล็ก ซึ่งพบได้ในที่ราบ แม้แต่ตามสวนผลไม้ หรือ ตามวัด ที่มีต้นไม้เหลืออยู่มาก ผิดไปจากความเข้าใจเดิม ที่นักดูนกมักรู้จักนกพญาไฟใหญ่ เป็นตัวแรกในกลุ่มนกพญาไฟ ด้วยกัน จนมีความรู้สึกว่า นกพญาไฟ จะพบได้ ในป่า บนพื้นที่สูงเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้น สำหรับนกพญาไฟสองชนิด ที่กล่าวแล้ว นกพญาไฟสีเทา แม้จะเป็นนกที่ไม่มีสีสันสดใส แบบนกพญาไฟชนิดอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย และ เวลาที่พบ ก็มักจะพบได้บ่อย และ มีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าเฉลียวใจสักนิด จะรู้ว่า เรามิได้พบเห็นมันตลอดทั้งปี จะพบมากก็เฉพาะ ในฤดูหนาวเท่านั้น เลยจากนั้นไปแล้ว เราจะไม่พบตัวมันเลย ไม่ว่าจะในที่ราบ หรือ ตามพื้นที่สูง จะพบแต่ นกพญาไฟเล็กเท่านั้น นั่นก็เพราะ นกพญาไฟสีเทา เป็นนกอพยพ มาในฤดูหนาว และ บางพวกก็เพียงอพยพผ่าน จะเห็นมัน เป็นฝูง เล็กๆ เพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นไปดูอีกในที่เดิม ก็ไม่พบเสียแล้ว

ให้ระวังอีกตัวหนึ่งที่คล้ายกัน คือ นกพญาไฟตะโพกสีน้ำตาล ( Brown - rumped Minivet ) ซึ่งเป็นนกอพยพเหมือนกัน นกตัวผู้ จะมีคิ้วสีขาว ตะโพก และ ขนคลุมโคนขนหางด้านบน สีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนนกตัวเมีย แถบปีกสีขาว จะมีลายแต้ม สีเหลือง ตัวไม่เต็มวัย ตะโพก และ ขนคลุมโคนหางด้านบน สีจางกว่า แถบลายปีก สีเหลืองแกมเขียว ซึ่งพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

แหล่งข้อมูล : " นกในเมืองไทย " โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์

" A field guide to the birds of Thailand and South - east Asia " by Craig Robson

ภาพโดย Photographer : มล. ธาตุทอง ทองแถม ( Tattong Tongtham ) , พลวัฒน์ สุขวิวัฒน์ ( Pholwat Sukwiwat )

นกกินปลีแดงหัวไพลิน

นกกินปลีแดงหัวไพลิน
นกกินปลีแดงหัวไพลิน

นกกินปลีแดงหัวไพลิน (อังกฤษ:Fire-tailed Sunbird;ชื่อวิทยาศาสตร์ :Aethopyga ignicauda) เป็นนกเกาะคอนขนาดเล็ก ยาว 11-19 เซนติเมตร มีลักษณะร่วมของนกกินปลีมีจะงอยปากยาวโค้ง ลำตัวเรียวยาว ตัวผู้จะมีสีสันโดดเด่นกว่าตัวเมีย ตัวผู้หางสีแดงสดยาว 10-15 เซนติเมตร ตัวเมียไม่มีจุดเด่นใดๆ อาศัยในป่าดิบบนภูเขาหรือป่าสนเขา ระดับสูงหลายพันเมตร แพร่กระจายพันธุ์ตามแนวเทือกเขาสูง แนวเทือกเขาหิมาลัย ตั้งแต่ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ทิเบต จีนตอนใต้ และพม่า ในประเทศไทยพบเฉพาะดอยผ้าห่มปก และดอยลาง มักจะทำรังห้อยแขวนไว้บนกิ่งไม้ขนาดเล็ก ด้วยใบไม้แห้ง ผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมีนาคมและมิถุนายน

รูปร่างลักษณะ เป็นนกขนาดเล็กมาก ความยาวจากปลายปากจดหาง 11.5 - 19 ซม. นกตัวผู้ คล้ายนกกินปลี หางยาวคอสีฟ้า ( Mr's Gould 's Sunbird แต่มีหาง และขนคลุมหางด้านบนสีแดง ขนหางคู่กลางยาวกว่า 7.5 ซม. ตัวผู้ของชนิดย่อยที่มีสีคล้ำ คล้ายนกตัวเมียที่โตเต็มวัย แต่ยังพอมีสีแดงที่ข้างหางและขนคลุมหางด้านบน มีแต้มสีเหลือง ที่โคนหางและท้อง นกตัวเมีย คล้ายกับนกตัวเมียของนกกินปลีหางยาวเขียว (Green - tailed Sunbird ) แต่โคนหางสีออก เหลือง มากกว่า ปลายหางตัดตรงไม่ยาวแหลมเหมือนนกตัวผู้ ไม่มีสีขาวที่ปลายหาง เหมือนนกกินปลีหางยาว เขียวตัวเมีย ด้านข้างของหางมีสีส้มอมน้ำตาลเจืออยู่เล็กน้อยพอสังเกตได้ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีชนิดย่อยอื่นอีก คือ A .i . flavescens พบทางภาคตะวันตกของพม่า

แหล่งอาศัยหากิน ป่าดงดิบเขาสูง ป่าสน ชายป่า ป่าชั้นรองในที่สูง โดยเฉพาะป่าที่มีต้นกุหลาบพันปีขึ้นอยู่ มาก ( Rhododendron ) และป่าที่มีไม้จำพวกโอ๊ค หรือไม้จำพวก ต้นก่อเขา ขึ้นอยู่ ในระดับความสูง 1,220 - 3,960 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในแถบเชิงเขาหิมาลัย พบทำรังวางไข่ที่ระดับความสูงมากกว่า 2,745 เมตรขึ้นไป อาหารได้แก่ น้ำหวาน จากดอกไม้ จำพวกดอกกุหลายพันปี ดอกสน ก่อเขา แมลงตามต้นไม้บางชนิด แมงมุม ตัวอ่อน และ ไข่ของแมลง

ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ ในประเทศอินเดียพบ ทำรังวางไข่ระหว่างเดือน เมษายน ถึง มิถุนายน ทำรังด้วย รากไม้ เส้นใยของใบไม้ที่เนื้อใบผุกร่อนหลุดไปหมดแล้ว หุ้มภายนอกรังพลางตาศัตรู ด้วยมอส และ ตะไคร่สีเขียว หรือกล้วยไม้ หรือเถาวัลย์สีเขียว ลักษณะรังห้อยยาวตรงกลางเป็นกระเปาะ คล้ายของนกกินปลีหางยาวเขียว วางไข่ครอกละ 2 - 3 ฟอง เปลือกไข่สีขาว มีแต้ม หรือ ประจุดเล็กๆสีน้ำตาล และ มีประจุดหนาแน่นเป็นวงกลมที่ด้านป้านของไข่ ขนาดของไข่ 15.6 X 11.8 มม.

การแพร่กระจายพันธุ์ เป็นนกประจำถิ่น แต่เคลื่อนย้ายตามแหล่งหากินในเขตภูเขาสูง ของ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของอินเดีย (แถบภูเขาหิมาลัย) , ตอนใต้ของทิเบต , ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน , สำหรับเอเซียตะวันออก เฉียงใต้ เป็นนกประจำถิ่นของภาคเหนือ และภาคตะวันตกของพม่า เป็นนกอพยพ ผ่าน ทางภาคกลางของพม่า , ภาคตะวันตก เฉียงเหนือ ของไทย

สำหรับประเทศไทย เป็นนกอพยพมาในฤดูหนาว นอกฤดูผสมพันธุ์ ที่พบน้อยและหายากมาก รายงานเก่า ระบุว่าพบที่ดอยผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนกกินปลีที่หางยาว ที่สุด ของประเทศไทย ลักษณะคล้ายนกกินปลีหางยาวเขียว โดยเฉพาะอกมีแต้มสีแดง และท้องสีเหลือง แต่มีหาง และ ขนคลุมโคนหางด้านบนสีแดง น่าจะพบได้ทางยอดตะนาวศรีด้าน ทิศตะวัน ตก ที่ติดประเทศพม่า และ ยอดเขาสูงอื่นๆทางภาคเหนือบ้าง ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

แหล่งข้อมูล : " A Field guide to The birds of thailand and South east Asia " By Craig Robson