วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า - Blue-winged Leafbird

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (ชื่อสามัญ: Blue-winged Leafbird ชื่อวิทยาศาสตร์: Chloropsis cochinchinensis) เป็นชนิดพันธุ์หนึ่งของสกุลนกเขียวก้านตอง ลักษณะพิเศษคือมีแถบสีฟ้าที่ขอบปีกด้านนอก ยาวตั้งแต่หัวปีกถึงปลายปีก โดยความเข้มอ่อนขึ้นอยู่กับอายุและชนิดพันธุ์ย่อยของนก ชนิดพันธุ์นี้พบครั้งแรกในเขตโคชินไชน่า (ปัจจุบันคือเวียดนามใต้) จึงนำชื่อสถานที่พบมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า cochinchinensis

ลักษณะทางกายภาพ

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้ามีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 19 เซนติเมตร ลำตัวอยู่ในแนวนอน บริเวณตะโพกมีขนยาวและฟูเช่นเดียวกับนกปรอด ปากยาว เรียวโค้ง และมีความยาวพอๆกับหัว เหมาะที่จะใช้สอดเข้าไปในกรวยดอกไม้เพื่อดูดกินน้ำหวานตอนปลายปากงุ้มลงเล็กน้อย รูจมูกเป็นรูปไข่ ขนที่หน้าผากยาวลงมาถึงรูจมูก ที่มุมปากมีขนเส้นเล็กๆแข็งๆ สั้นๆ มองเห็นไม่เด่นชัดนัก ปีกมนกลม ขนปลายปีกมี 10 เส้น ขนหางมี 12 เส้น หางยาวตัดตรง ขาและนิ้วเท้าสีเทาอมฟ้า ขาท่อนล่างสั้นมาก นิ้วเท้าเล็กยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้วยื่นไปข้างหลัง 1 นิ้ว

ส่วนบนของลำตัวตั้งแต่หลังคอ หลัง ไหล่ ตะโพก จนถึงขนคลุมโคนหางด้านบน เป็นสีเขียวสดเช่นเดียวกับบนหัวและท้ายทอย ปีกสีเขียวเข้มแต่มีแถบสีฟ้าสะท้อนแสงที่ขนคลุมปีกเห็นได้ชัดเจน และครีบขนด้านนอกของขนปลายปีกทุกเส้นเป็นสีฟ้า แต่เห็นไม่ค่อยชัดเพราะนกมักหุบปีกตลอดเวลา แต่ถ้าหากนำไปเทียบกับนกเขียวก้านตองชนิดอื่นแล้ว จะเห็นว่านกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า มีปีกสีออกฟ้าชัดเจนกว่าแม้ว่าจะมิได้มีสีฟ้าทั่วทั้งปีก ขนหางคู่กลางเป็นสีเขียวเข้มเช่นเดียวกับปีกแต่ขนหางที่เหลืออีก 5 คู่เป็นสีฟ้าเช่นเดียวกับครีบขนด้านนอกของขนปลายปีก

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเป็นนกที่มีความแตกต่างระหว่างเพศ แบบเห็นได้ชัด โดยเพศผู้จะมีขนรอบดวงตา รอบปาก และบริเวณคางเป็นสีดำ ภายในแถบสีดำยังมีขีดสั้นๆ เฉียงๆ สีน้ำเงินอยู่สองข้างคางอีกด้วย แต่ไม่ชัดเจน นอกจากนี้รอบแถบสีดำจะมีแถบสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งค่อยๆกลมกลืนส่วนบริเวณหัวจะมีสีเขียวออกไปทางเหลือง หน้าผากและแถบสั้นๆเหนือตาเป็นสีเหลืองสดใส แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียวสดทางตอนบนและด้านข้างของหัว บริเวณท้ายทอยเจือสีทองเล็กน้อย ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้มักเข้าใจผิดว่าเป็นนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง แต่จุดที่ต่างคือสีเหลืองจะไม่เข้มมาก และแถบสีฟ้าที่ปีกจะดูเด่นชัดกว่า
แถบสีฟ้าที่ปีกมักเห็นได้ชัดจนเป็นเอกลักษณ์นกที่ยังไม่เต็มวัย ทั้งสองเพศจะมีสีเขียวตลอดตัว และมีสีเหลืองแซมเล็กน้อยที่ท้ายทอย แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์มีแถบสีฟ้าสดใสที่ ขนคลุมปีก ขนปลายปีก ขนหางคู่นอก สีฟ้าจะดูหม่นกว่านกเพศผู้ตัวเต็มวัยเล็กน้อย

ชนิดย่อย C. c. flavocineta (นกเขียวก้านตองคินาบาลู) ซึ่งพบบนเทือกเขาคินาบาลู ในตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว นกเพศเมีย จะมีแถบสีดำที่คาง หัวตา ใต้ตา และ ใต้คอ เช่นเดียวกับนกตัวผู้ แต่ไม่มีแถบสีเหลืองล้อมรอบ

ชนิดพันธุ์ย่อยและถิ่นอาศัย

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าชวา เพศผู้นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า เป็นนกเขียวก้านตองที่มีชนิดพันธุ์ย่อย(สปีชีส์ย่อย) มากที่สุดในบรรดานกเขียวก้านตองทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 10 ชนิดย่อยดังนี้

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าศรีลังกา หรือ นกเจอร์ดอน ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. jerdoni มีถิ่นอาศัยบริเวณที่ราบสูงเดคคานประเทศอินเดีย จนถึงศรีลังกา ตั้งชื่อเป็นเกียรติกับ โทมัส เจอร์ดอน นักพฤกษศาสตร์ และสัตววิทยาชาวอังกฤษ เป็นสายพันธุ์ที่สีฟ้าของปีกจางที่สุดจนเกือบมองไม่เห็น

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าพายัพ ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. chlorocephala ชนิดย่อยนี้มีการแพร่กระจายกว้างขวางมากที่สุด ในประเทศไทยพบในเขตพื้นที่มณฑลพายัพ และฟากตะวันตกของมณฑลมหาราษฎร์เดิม ยาวลงไปจนถึงคอคอดกระ อันได้แก่พื้นที่เขตทิวเขาแดนลาว ทิวเขาอินทนนท์ ทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาขุนตานและทิวเขาผีปันน้ำ ข้ามเข้าไปในเขตประเทศพม่า อันได้แก่พื้นที่เกือบทั้งหมดของพม่า ยกเว้นเขตตะนาวศรีตอนใต้ และยังพบในบังคลาเทศ และรัฐอัสสัมและมณีปุระ ของอินเดีย

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าคินเนียริ ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. kinneari มีถิ่นอาศัยบริเวณทางตะวันออกของมณฑลมหาราษฎร์เดิมอันได้แก่ฟากตะวันออกของทิวเขาผีปันน้ำ และพื้นที่ทั้งหมดทิวเขาเพชรบูรณ์ และทิวขาหลวงพระบาง ข้ามไปยังแขวงไซยะบูลี และพื้นที่ของประเทศลาวตั้งแต่แขวงสะหวันนะเขตขึ้นไปทางเหนือ นอกจากนี้ยังพบในสิบสองปันนา และตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโคชินไชน่า ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. cochinchinensis เป็นชนิดพันธุ์แรกที่ค้นพบ มีถิ่นอาศัยบริเวณทิวเขาสันกำแพง ทิวเขาพนมดงรัก ทิวเขาจันทบุรี ทิวเขาบรรทัด เข้าไปในประเทศกัมพูชา และประเทศลาวตั้งแต่แขวงสาละวันลงมา และประเทศเวียดนามตอนใต้

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเสรีไทย หรือ นกเสรีไทย ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. serithai ค้นพบครั้งแรกที่บ้านท่าล้อ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย Herbert g. Deignan ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับขบวนการเสรีไทย มีถิ่นอาศัยบริเวณทางตอนใต้ของเขตตะนาวศรีในประเทศพม่า และในประเทศไทยตั้งแต่คอคอดกระลงมาจนถึงจังหวัดตรัง

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโมลุกกะ ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. moluccensis พบที่หมู่เกาะโมลุกกะ แต่ตามบันทึกนั้นพบครั้งแรกที่มะละกา ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ส่วนในอินโดนีเซียพบที่หมู่เกาะโมลุกกะ และอิเรียนจายา

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าสุมาตรา ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. ictercephala มีถิ่นอาศัยบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าชวา ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. nigricollis มีถิ่นอาศัยบริเวณเกาะชวา เกาะบาหลี และเกาะอื่นๆในเขตหมู่เกาะซุนดาน้อย ของประเทศอินโดนีเซีย ในเพศผู้จะไม่มีสีเหลืองที่หัวมากเหมือนกับพันธุ์ไทย และขนสีดำที่คางกินอาณาบริเวณน้อยกว่า

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าบอร์เนียว ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. viridinucha มีถิ่นอาศัยบริเวณที่ราบของเกาะบอร์เนียว ในเขตประเทศอินโดนีเซีย

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าคินาบาลู ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. flavocineta มีถิ่นอาศัยบริเวณภูเขาสูงของเกาะบอร์เนียว ซึ่งพบได้มากที่ภูเขาคินาบาลู ประเทศมาเลเซีย นกเพศเมีย จะมีแถบสีดำที่คาง หัวตา ใต้ตา และ ใต้คอ เช่นเดียวกับนกตัวผู้ แต่ไม่มีแถบสีเหลืองล้อมรอบ

นอกจากทั้ง 10 ชนิดพันธุ์ย่อยแล้ว นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ นกเขียวก้านตองหน้าผากทองเกือบทุกประการ เว้นแต่สีขนบริเวณหน้าผาก ซึ่งจะมีสีทองเพิ่มขึ้นมา

อาหาร

นกเขียวก้านตอง เป็นนกที่กินลูกไม้ น้ำหวานดอกไม้ และแมลงเป็นอาหาร โดยมีลิ้นที่เรียวเล็ก เป็นอุปกรณ์ในการกินน้ำหว่านจากดอกไม้ นกเขียวก้านตองมักชอบกระโดดหากิน ตั้งแต่บนกิ่งต่ำๆ ของต้นไม้ ระดับกลางของลำต้น จนกระทั่งถึงยอดไม้ เป็นนกที่ขยันหากินไม่ค่อยอยู่นิ่ง มักจะง่วนอยู่กับการกระโดดไปมาระหว่างกิ่งไม้ เพื่อคอยจิกกินหนอนและแมลงต่างๆ ที่เกาะอยู่ตามกิ่งและใบไม้ เช่น ตั๊กแตนใบไม้ ตั๊กแตนตำข้าว มดแดง และด้วงหนวดยาว แม้แต่แมงมุม หรือหอยทากตัวเล็กๆ และดูเหมือนว่าในขณะหากินนั้น นกเขียวก้านตองไม่ใคร่สนใจอะไร ไม่ค่อยระแวดระวังภัย และบางครั้งก็ค่อนข้างเชื่อง แม้ว่าคนจะเดินไปส่องกล้องดูอยู่ ใต้ต้นไม้ที่นกเขียวก้านตองกำลังกระโดดหากินนั้น นกเขียวก้านตองก็ไม่บินหนีไปไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น