วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

นกแอ่นพง - Ashy Wood - swallow

นกแอ่นพง
นกแอ่นพง
นกแอ่นพง (Ashy Wood - swallow) มีรูปร่างคล้ายคลึงกับนกนางแอ่น แต่ชอบอยู่ตามป่า เป็นนกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 18 ซม. ปีกเป็นรูปสามเหลี่ยม

ลักษณะ
ตัวเต็มวัย สีเทาเข้ม แต่บริเวณอก และ ท้องสีจะจางกว่า ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีขาว มีลายพาดแคบๆ สีขาว ที่ขนคลุมโคนขนหางด้านบน และ ลายพาดสีขาว หรือ เทาที่ปลายหาง ปากสีน้ำเงินอ่อน หรือ เทา บริเวณหัวตาสีดำ , ลำตัว ส่วนอื่นๆ สีน้ำตาล โดยด้านบนจะเข้มกว่าด้านล่าง หางสีออกดำ
ตัวไม่เต็มวัย ลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่จะมีลายแต้มสีน้ำตาล แดง และ มีลายเกล็ดสีขาวบริเวณหลัง

นิสัย
นกแอ่นพงชอบเกาะรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ บนกิ่งไม้แห้งเด่นๆ ของต้นไม้สูง เวลาที่เกาะกิ่งอยู่นั้น ลำตัวตั้งตรง ปลายปีกยาวเลยปลายหางออกไป และ มักชอบกระดกหาง ขึ้นๆลงๆ หรือแกว่งหางไปทางซ้ายทีขวาที ในเวลาหลับนอนตอนกลางคืน นกแอ่นพงจะเกาะนอน เบียดกันแน่น มาก ฝูงหนึ่งจะมีนกราว 15 - 20 ตัว

อาหาร
นกแอ่นพงกินแมลง และ ชอบกินน้ำหวาน และ เกสรดอกไม้ ด้วย เพราะลิ้นของมัน มีลักษณะ คล้ายแปรง ใช้ในการดูดซับน้ำหวาน และ เกสรดอกไม้ได้

การขยายพันธุ์
ทำรังราวเดือน มีนาคม ถึง มิถุนายน วางไข่ครอกละ 2 - 3 ฟอง เปลือกไข่สีขาว หรือ เขียวอ่อน มีจุกกระเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน กระจายทั่วทั้งฟอง แต่จะหนาแน่นทางด้านป้า
นกแอ่นพง

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

นกพญาไฟสีเทา

นกพญาไฟสีเทา
นกพญาไฟสีเทา

นกพญาไฟสีเทา






นกพญาไฟสีเทา อยู่ในวงศ์ย่อย อีกา ซึ่งนกในวงศ์นี้มีขนาดเล็กมาก จนถึงขนาดกลาง และ รูปร่างภายนอกแตกต่างกันมาก ทั่วโลกมี 4 เหล่า ประเทศไทย มี 3 เหล่า คือ เหล่าอีกา เหล่านกแอ่นพง และ เหล่านกขมิ้น ซึ่ง นกพญาไฟสีเทา อยู่ในเหล่านกขมิ้น นกในเหล่านี้ ในประเทศไทย มี 5 สกุล คือ สกุลนกขมิ้น สกุลนกขี้เถ้าและนกเฉี่ยวบุ้ง สกุลนกเขนน้อยคิ้วขาว สกุลนกพญาไฟ และ สกุลนกเขนน้อย

สกุลนกพญาไฟ Genus Pericrocotus ชื่อสกุลมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ peri แปลว่า รอบๆ หรือ มาก croc หรือ Krotos แปลว่า สีส้ม ความหมายคือ " นกที่มีร่างกาย ส่วนใหญ่ เป็น สีส้ม " นกในสกุลนี้ มีลักษณะเด่นคือ มีสีค่อนข้างฉูดฉาด โดยเป็นสีแดง และ เหลือง , ปาก ยาวประมาณครึ่งหนึ่ง ของ ความยาวของหัว , ปาก แข็งแรง เป็นปากขอเล็กน้อย ตอนปลายเป็นรอยบาก รูจมูกทั้งหมดคลุมด้วยขน , ปีกยาว ปลายปีกแหลม , หางยาว เป็นหางบั้ง , ขา ไม่ค่อยแข็งแรง . ทั่วโลกมีนกในสกุลนี้ 13 ชนิด ประเทศไทยพบ 9 ชนิด คือ 1 นกพญาไฟสีกุหลาบ ( Rosy minivet ) 2 นกพญาไฟตะโพกสีน้ำตาล ( Brown - rumped Minivet หรือ Swinhoe's Minivet ) , 3 นกพญาไฟสีเทา ( Ashy Minivet ) , 4 นกพญาไฟเล็ก ( Small Minivet ) , 5 นกพญาไฟเล็กคอดำ ( Fiery Minivet ) , 6 นกพญาไฟคอเทา ( Grey - chinned Minivet ) , 7 นกพญาไฟพันธุ์เหนือ ( Long - tailed Minivet ) , 8 นกพญาไฟแม่สะเรียง ( Short - billed Minivet ) และ 9 นกพญาไฟใหญ่ ( Scarlet Minivet )

นกพญาไฟสีเทา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pericrocotus divaricatus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ divaric หรือ divaricare แปลว่า ส่วนที่แยกออกไป และ tus เป็นคำลงท้าย ความหมายคือ " นกที่มีลักษณะไม่เหมือน นกพญาไฟ อื่นๆ " หรือ นกที่มีส่วนอื่น ( หาง) ยื่นยาวออกไป มากเท่าความยาวของลำตัว

รูปร่างลักษณะ เป็นนกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจดหาง 20 ซม. ชนิดย่อยที่มีการแพร่กระจายมากที่สุด และ ใช้เป็นชนิดอ้างอิงหลัก คือ P . d . divaricatus มีรูปร่างลักษณะดังนี้ คือ

นกตัวผู้ บริเวณหน้าผาก และ ลำตัวด้านล่าง สีขาว มีเส้นสีดำลากผ่านตา , กลางกระหม่อม และ ท้ายทอย สีดำ โคนขนปีก มีลายแถบสีขาว เมื่อนกเกาะหุบปีกอาจมองเห็นไม่ชัด แต่ เห็นได้ชัดขณะบิน , ซึ่งนกตัวผู้บางตัว อาจไม่มีลาย สีขาว ที่กลางปัก , ขนหางคู่นอก ส่วนใหญ่เป็นสีขาว , ไหล่ และ ขนคลุมหางด้านบน สีเทา แต่ การที่หน้าผาก และ ลำตัวด้านล่าง มีสีขาวครีม เป็นลักษณะเด่น ที่เห็นได้แต่แรกของนกชนิดนี้

นกตัวเมีย ตั้งแต่ กระหม่อม ลงไปถึง ท้ายทอยสีเทา และ ลำตัวด้านล่าง สีเทา โดยที่บางส่วนของกระหม่อม จะมีสีเข้มบางส่วน มีแถบสีขาวลากจากหน้าผากผ่านตา และ มีแถบสีดำจางๆบริเวณหน้าผาก
นกในขนชุดฤดูแรก คล้ายนกตัวเมีย แต่ สีขาวที่ลำตัวด้านล่าง จะยังเป็นสีขาวตุ่นๆอยู่ ขากลางปักด้านที่ติดกับลำตัว มีสีดำ ขนคลุมกลางปีก มีขอบขนสีขาว ซึ่งมักเป็นลักษณะทั่วไป ของนกที่อยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ในปีนั้น ซึ่งจะมีลักษณะของขนใหม่ที่เพิ่งงอกยังไม่เต็มที่ ปะปนกับขนชุดวัยเด็กที่ยังผลัดไม่หมด เพราะนกจะไม่ผลัดขนพร้อมกันทั้งตัว แต่จะ ทยอย ผลัดขนบางส่วนที่ โดยเริ่มจากหัวลงไปหาลำตัวก่อน ( บางชนิดผลัดขนที่ลำตัวก่อน ) และ ผลัดขนปีก เป็นชุดสุดท้าย ก่อนจะเป็นนกที่มีขนแบบ นกที่โตเต็มวัย ( การดูลักษณะ การผลัดขนนี้ เป็นประโยชน์มาก ในการจำแนก ชนิด เพศ วัย และ อายุ ของ เหยี่ยว และ อินทรี )

นกที่ยังไม่เต็มวัย ไม่มีสีขาวที่กระหม่อม ลำตัวด้านบน มีลายแต้มสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่าง มักสีลายแถบสีเทา

นิสัยประจำพันธุ์ มักพบอยู่เป็นฝูง และ อาจพบหากินร่วมกับ นกกินแมลง ชนิดอื่น โดยเฉพาะ นกกระจิ๊ด , นกจับแมลง และ นกพญาไฟใหญ่ . มักเกาะตามยอดไม้ และ กิ่งไม้ในระดับ กลางต้น ถึง เรือนยอด แต่บางครั้งอาจบินไล่ตามแมลง ลงมาที่กิ่งต่ำๆได้

แหล่งอาศัยหากิน พบได้ในป่าหลายแบบ เช่น ตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าสนเขา ป่าชั้นรอง ป่าละเมาะ ป่าโกงกาง ป่าโปร่งตามชายฝั่งทะเล หย่อมป่าตามสันดอนปากแม่น้ำ . ช่วงที่อพยพมาถึงใหม่ๆ อาจพบตามสวนสาธารณะขนาดใหญ่ หรือ สถานศึกษาที่มีต้นไม้ปลูกไว้จำนวนมาก จนคล้ายสวนป่า ในพื้นที่ใกล้กรุงเทพ อาจพบได้ตามสถานที่ ที่มีลักษณะดังกล่าว เช่น สวนลุมพินี , สวนหลวง ร.9 , พุทธมณฑล ต. ศาลายา , ม.มหิดล วิทยาเขตศาลายา , ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน , สนามบินกำแพงแสน , ค่ายลูกเสือกำแพงแสน จ. นครปฐม เป็นต้น ปกติ พบได้ตั้งแต่พื้นราบ จนถึงระดับความสูง 1 , 200 เมตร จากระดับ น้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่จะพบ ตาม พื้นราบมากกว่า
อาหารได้แก่แมลง โดยการจิกกิน ตามยอดไม้ และ กิ่งไม้ ไม่บ่อยนัก ที่จะไล่จับกินแมลง กลางอากาศ ใกล้กิ่งที่เกาะ

ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ แหล่งทำรังวางไข่อยู่ทาง ตะวันออกเฉียงใต้ ของ ไซบีเรีย , Ussuriland , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แหล่งทำรังวางไข่ ของนกชนิดนี้ อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร การคมมาคมไม่มี หรือ ไม่สดวก จึงยังไม่มีการศึกษา และ ข้อมูล การทำรัง วางไข่ และระยะเวลาการ เลี้ยงลูกอ่อน ของนกชนิดนี้

การแพร่กระจายพันธุ์ นอกจากที่แหล่งทำรังวางไข่ในไซบีเรีย แล้ว ยังพบได้ใน ภาคเหนือ ภาคใต้ ของเกาหลี , ญี่ปุ่น . ในฤดูหนาว นกที่อาศัยในเขตหนาวทางตอนเหนือ จะอพยพย้ายถิ่น ลงใต้ มาหากินที่ สุมาตรา บอร์เนียว และ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ สำหรับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกอพยพในฤดูหนาว นอกฤดูผสมพันธุ์ที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ในประเทศแถบนี้ ยกเว้นไม่พบ ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของ เมียนม่าห์ , เขตเทนเนอซาลิม , ภาคตะวันตกของตังเกี๋ย และ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ของอันนัม ในเวียตนาม ) มีรายงานการพบเป็นนกอพยพผ่าน ของ กัมพูชา และ ภาคตะวันออก ของตังเกี๋ย

อนึ่ง รายงานการพบนก ตามประเทศทางแถบชายฝั่งทะเล เป็นแนวทางให้ทราบถึง เส้นทางการอพยพย้ายถิ่น ของ นกชนิดนี้ และ ใช้คาดคะเนชายฝั่งด้านที่นกจะอพยพขึ้นฝั่งได้ เพราะ นกอพยพ จะบินเข้าฝั่งจากเส้นทางที่สั้นที่สุด และ บินเลียบตามแนวชายฝั่ง ในกรณีพวกที่อพยพลงใต้ไป ถึงออสเตรเลีย มีพวกนกแอ่น และ นกทะเลบางชนิดเท่านั้น ที่แข็งแรงพอที่จะบินตัด ข้าม มหาสมุทร นอกนั้นส่วนใหญ่จะบินเลาะชายฝั่งทวีป จะบินตัดข้ามช่องแคบ เข้าหาแผ่นดิน โดยใช้ช่องทางข้ามผืนน้ำ ที่สั้นที่สุด เพราะการอพยพ ข้ามผืนน้ำ มีอันตรายมาก จากสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลง และ พายุที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นกพวกที่แข็งแรง และ บินในระดับสูงมากเท่านั้น ที่จะใช้เส้นทางตัดข้ามหาสมุทร ส่วนนกเล็กๆ ( Arctic warbler และ Arctic Tern เป็นข้อยกเว้นพิเศษ ) จะแวะพักเติมพลังงาน เป็นระยะๆ ตามแนวเลียบชายฝั่งทะเล ดังนั้น ป่าละเมาะเล็กๆ ตามชายฝั่งทะเล แถบ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร เป็นสถานที่ที่ นักดูนก ควรให้ความสนใจ ในตอนต้นของ ฤดูอพยพ ทั้งเที่ยวมา และ เที่ยวกลับ เพราะอาจพบนกอพยพหายาก ที่แวะพักก่อนอพยพลงใต้ หรือ กลับไปแหล่งผสมพันธุ์ทาง ตอนเหนือ

สำหรับประเทศไทย เป็นนกอพยพผ่าน และ นกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย เป็นนกพญาไฟ ที่พบได้ในที่ราบ อีกชนิดหนึ่ง คือ นกพญาไฟเล็ก ซึ่งพบได้ในที่ราบ แม้แต่ตามสวนผลไม้ หรือ ตามวัด ที่มีต้นไม้เหลืออยู่มาก ผิดไปจากความเข้าใจเดิม ที่นักดูนกมักรู้จักนกพญาไฟใหญ่ เป็นตัวแรกในกลุ่มนกพญาไฟ ด้วยกัน จนมีความรู้สึกว่า นกพญาไฟ จะพบได้ ในป่า บนพื้นที่สูงเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้น สำหรับนกพญาไฟสองชนิด ที่กล่าวแล้ว นกพญาไฟสีเทา แม้จะเป็นนกที่ไม่มีสีสันสดใส แบบนกพญาไฟชนิดอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย และ เวลาที่พบ ก็มักจะพบได้บ่อย และ มีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าเฉลียวใจสักนิด จะรู้ว่า เรามิได้พบเห็นมันตลอดทั้งปี จะพบมากก็เฉพาะ ในฤดูหนาวเท่านั้น เลยจากนั้นไปแล้ว เราจะไม่พบตัวมันเลย ไม่ว่าจะในที่ราบ หรือ ตามพื้นที่สูง จะพบแต่ นกพญาไฟเล็กเท่านั้น นั่นก็เพราะ นกพญาไฟสีเทา เป็นนกอพยพ มาในฤดูหนาว และ บางพวกก็เพียงอพยพผ่าน จะเห็นมัน เป็นฝูง เล็กๆ เพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นไปดูอีกในที่เดิม ก็ไม่พบเสียแล้ว

ให้ระวังอีกตัวหนึ่งที่คล้ายกัน คือ นกพญาไฟตะโพกสีน้ำตาล ( Brown - rumped Minivet ) ซึ่งเป็นนกอพยพเหมือนกัน นกตัวผู้ จะมีคิ้วสีขาว ตะโพก และ ขนคลุมโคนขนหางด้านบน สีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนนกตัวเมีย แถบปีกสีขาว จะมีลายแต้ม สีเหลือง ตัวไม่เต็มวัย ตะโพก และ ขนคลุมโคนหางด้านบน สีจางกว่า แถบลายปีก สีเหลืองแกมเขียว ซึ่งพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

แหล่งข้อมูล : " นกในเมืองไทย " โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์

" A field guide to the birds of Thailand and South - east Asia " by Craig Robson

ภาพโดย Photographer : มล. ธาตุทอง ทองแถม ( Tattong Tongtham ) , พลวัฒน์ สุขวิวัฒน์ ( Pholwat Sukwiwat )

นกกินปลีแดงหัวไพลิน

นกกินปลีแดงหัวไพลิน
นกกินปลีแดงหัวไพลิน

นกกินปลีแดงหัวไพลิน (อังกฤษ:Fire-tailed Sunbird;ชื่อวิทยาศาสตร์ :Aethopyga ignicauda) เป็นนกเกาะคอนขนาดเล็ก ยาว 11-19 เซนติเมตร มีลักษณะร่วมของนกกินปลีมีจะงอยปากยาวโค้ง ลำตัวเรียวยาว ตัวผู้จะมีสีสันโดดเด่นกว่าตัวเมีย ตัวผู้หางสีแดงสดยาว 10-15 เซนติเมตร ตัวเมียไม่มีจุดเด่นใดๆ อาศัยในป่าดิบบนภูเขาหรือป่าสนเขา ระดับสูงหลายพันเมตร แพร่กระจายพันธุ์ตามแนวเทือกเขาสูง แนวเทือกเขาหิมาลัย ตั้งแต่ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ทิเบต จีนตอนใต้ และพม่า ในประเทศไทยพบเฉพาะดอยผ้าห่มปก และดอยลาง มักจะทำรังห้อยแขวนไว้บนกิ่งไม้ขนาดเล็ก ด้วยใบไม้แห้ง ผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมีนาคมและมิถุนายน

รูปร่างลักษณะ เป็นนกขนาดเล็กมาก ความยาวจากปลายปากจดหาง 11.5 - 19 ซม. นกตัวผู้ คล้ายนกกินปลี หางยาวคอสีฟ้า ( Mr's Gould 's Sunbird แต่มีหาง และขนคลุมหางด้านบนสีแดง ขนหางคู่กลางยาวกว่า 7.5 ซม. ตัวผู้ของชนิดย่อยที่มีสีคล้ำ คล้ายนกตัวเมียที่โตเต็มวัย แต่ยังพอมีสีแดงที่ข้างหางและขนคลุมหางด้านบน มีแต้มสีเหลือง ที่โคนหางและท้อง นกตัวเมีย คล้ายกับนกตัวเมียของนกกินปลีหางยาวเขียว (Green - tailed Sunbird ) แต่โคนหางสีออก เหลือง มากกว่า ปลายหางตัดตรงไม่ยาวแหลมเหมือนนกตัวผู้ ไม่มีสีขาวที่ปลายหาง เหมือนนกกินปลีหางยาว เขียวตัวเมีย ด้านข้างของหางมีสีส้มอมน้ำตาลเจืออยู่เล็กน้อยพอสังเกตได้ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีชนิดย่อยอื่นอีก คือ A .i . flavescens พบทางภาคตะวันตกของพม่า

แหล่งอาศัยหากิน ป่าดงดิบเขาสูง ป่าสน ชายป่า ป่าชั้นรองในที่สูง โดยเฉพาะป่าที่มีต้นกุหลาบพันปีขึ้นอยู่ มาก ( Rhododendron ) และป่าที่มีไม้จำพวกโอ๊ค หรือไม้จำพวก ต้นก่อเขา ขึ้นอยู่ ในระดับความสูง 1,220 - 3,960 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในแถบเชิงเขาหิมาลัย พบทำรังวางไข่ที่ระดับความสูงมากกว่า 2,745 เมตรขึ้นไป อาหารได้แก่ น้ำหวาน จากดอกไม้ จำพวกดอกกุหลายพันปี ดอกสน ก่อเขา แมลงตามต้นไม้บางชนิด แมงมุม ตัวอ่อน และ ไข่ของแมลง

ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ ในประเทศอินเดียพบ ทำรังวางไข่ระหว่างเดือน เมษายน ถึง มิถุนายน ทำรังด้วย รากไม้ เส้นใยของใบไม้ที่เนื้อใบผุกร่อนหลุดไปหมดแล้ว หุ้มภายนอกรังพลางตาศัตรู ด้วยมอส และ ตะไคร่สีเขียว หรือกล้วยไม้ หรือเถาวัลย์สีเขียว ลักษณะรังห้อยยาวตรงกลางเป็นกระเปาะ คล้ายของนกกินปลีหางยาวเขียว วางไข่ครอกละ 2 - 3 ฟอง เปลือกไข่สีขาว มีแต้ม หรือ ประจุดเล็กๆสีน้ำตาล และ มีประจุดหนาแน่นเป็นวงกลมที่ด้านป้านของไข่ ขนาดของไข่ 15.6 X 11.8 มม.

การแพร่กระจายพันธุ์ เป็นนกประจำถิ่น แต่เคลื่อนย้ายตามแหล่งหากินในเขตภูเขาสูง ของ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของอินเดีย (แถบภูเขาหิมาลัย) , ตอนใต้ของทิเบต , ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน , สำหรับเอเซียตะวันออก เฉียงใต้ เป็นนกประจำถิ่นของภาคเหนือ และภาคตะวันตกของพม่า เป็นนกอพยพ ผ่าน ทางภาคกลางของพม่า , ภาคตะวันตก เฉียงเหนือ ของไทย

สำหรับประเทศไทย เป็นนกอพยพมาในฤดูหนาว นอกฤดูผสมพันธุ์ ที่พบน้อยและหายากมาก รายงานเก่า ระบุว่าพบที่ดอยผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนกกินปลีที่หางยาว ที่สุด ของประเทศไทย ลักษณะคล้ายนกกินปลีหางยาวเขียว โดยเฉพาะอกมีแต้มสีแดง และท้องสีเหลือง แต่มีหาง และ ขนคลุมโคนหางด้านบนสีแดง น่าจะพบได้ทางยอดตะนาวศรีด้าน ทิศตะวัน ตก ที่ติดประเทศพม่า และ ยอดเขาสูงอื่นๆทางภาคเหนือบ้าง ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

แหล่งข้อมูล : " A Field guide to The birds of thailand and South east Asia " By Craig Robson

นกแต้วแล้วท้องดำ

นกแต้วแล้วท้องดำ
นกแต้วแล้วท้องดำ

นกแต้วแล้วท้องดำ


นกแต้วแล้วท้องดำ (อังกฤษ: Gurney's Pitta) เป็นนกที่พบในแถบพม่าและไทย ปัจจุบันพบที่ เขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ประเทศไทย เท่านั้น

นกแต้วแล้วท้องดำถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2418 ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า มีรายงานการพบครั้งสุดท้าย ในประเทศพม่าปี พ.ศ. 2457 และไม่พบอีกเลยติดต่อกันนานถึง 50 ปี ทำให้ CITES ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ถูกค้นพบในประเทศไทยโดย Philip D Rould และ อุทัย ตรีสุคนธ์

นกแต้วแล้วชนิดเดียวที่เหลือแหล่งอาศัยสุดท้ายในประเทศไทย และ อาจเป็นแหล่งสุดท้ายในโลก ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ - บางคราม ต.เขานอจู้จี้ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ประเทศไทย คงเป็นความผิดของมันเอง ที่เลือกแหล่งพักพิงสุดท้ายที่ประเทศไทย ในยุคที่กฎหมายการรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นเพียงตัวอักษร ซึ่งมีผลปฏิบัติ เฉพาะกับ ผู้ยากไร้ที่แทบจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่กับนายทุนบุกรุกที่ป่าสงวนของชาติ กฎหมายฉบับนี้ เหมือน ไม่เคยมีใน ประเทศ ไทย มาก่อน การสูญพันธุ์ของนกชนิดนี้ ถ้าจะแตกต่างจากนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอยู่บ้าง ก็ตรงที่ เรารู้ถึงสาเหตุล่วงหน้า นับสิบปี และมีบันทึกประวัติก่อนการสูญพันธุ์ไว้ละเอียดและถาวรที่สุดกว่าที่เคยมี บางที สถานที่ ลึกลับ แบบ Jurassic Park จะเป็นความหวังสุดท้าย ของการอยู่รอด ของเผ่าพันธุ์ชนิดนี้ "แก้ว" ดวงนี้ไม่ควรอยู่ที่จังหวัด กระบี่อีกต่อไป เพราะที่ นั่น เหมาะต่อการเจริญเติบโตของ "ไก่ " และ "วานร" ซึ่งไม่รู้จักคุณค่าของ "แก้ว" ในมือ แม้แต่ น้อย

รูปร่างลักษณะ ความยาวจากปลายปากจดหาง 18.5 - 20.5 ซม. นกทั้งสองเพศสีสันแตกต่างกัน นกตัวผู้ กระหม่อมและท้ายทอยสีฟ้าสด หน้าผากและใบหน้าด้านข้าง สีดำ ท้องด้านล่างสีเหลือง , กลางอก ท้องตอนบน และ ขนคลุม ใต้โคนหาง สีดำ สีข้าง และลำตัวด้านข้างมีขีดสีดำถี่ๆ สังเกตได้ชัดเจน ขนคลุมลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอ่อน หางสีฟ้าอมเขียว มีแถบสีฟ้าสด นกตัวเมีย กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำตาลแดง และ ขาวอมเหลืองปะปนกัน ใบหน้าด้านข้าง สีดำอมน้ำตาล มีขีดสีดำลากผ่านตา และแก้ม ไปจดท้ายทอย โดยที่บริเวณหลังตา แถบ หรือ ขีดสีดำ จะกว้างกว่า เล็กน้อย คอสีขาวนวล ต่อด้วยสีขาวอมเหลือง ลงมาจนถึงท้อง มีขีดสีดำเป็นลายถี่ๆตามแนวขวางของลำตัว ตั้งแต่อกส่วนบนเรียงลงไปจนถึง ขนคลุมใต้โคนหาง แถบ หรือขีดสีดำ นี้จะเป็นเส้นสั้นๆ โดยเฉพาะ บริเวณอกส่วนบน เกือบจะเป็นจุดประสีดำด้วยซ้ำ หางสีฟ้าอ่อน ส่วนอื่นๆสีจะคล้ายนกตัวผู้แต่สีอ่อนกว่าเท่านั้น โคนปาก และ ปลายปากสีเหลืองจางๆ นกที่ยังไม่โตเต็มวัย ลำตัวส่วนใหญ่สีน้ำตาลอ่อน มีลายเป็นขีดสีเนื้อกระจายทั่วลำตัวทั้งด้านบนและล่าง กลางท้อง และ ด้านข้างของอกมีพื้นสีเนื้อ และขีดสั้นๆสีดำกระจายถี่ๆ เรียงตามแนวขวาง ของลำตัว กระหม่อนสีส้ม ตัดขอบเหนือตาด้วยแถบแคบๆสีเนื้อหรือขาวอมเหลือง มีแถบสีดำลากผ่านตาไปจดท้ายทอย ใต้คอ คาง และ ด้านข้างไปจนจดท้ายทอยสีขาวขุ่น หางสีฟ้าอ่อน ปากสีค่อนข้างดำ ขาสีเนื้อหรือชมพูอ่อน ม่านตาสีค่อนข้างดำ หรือน้ำตาลเข้ม มีขอบเนื้อเปลือยเปล่ารอบตาสีแดง

ประวัติการค้นพบ นกแต้วแล้วท้องดำ ถูกค้นพบและรู้จักกันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1875 ในเขตเทนเนอซาลิม ของพม่า มีรายงานการพบ และ เก็บตัวอย่างกันมากในปี ค.ศ. 1910 - 1920 จนกระทั่งมีรายงานการพบครั้งสุดท้าย ในประเทศ พม่าปี ค.ศ. 1914 และไม่พบอีกเลยติดต่อกันนานถึง 50 ปี จนกระทั่ง CITES ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่ง มีรายงานการพบ อีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1986 โดย Philip D Rould และ อุทัย ตรีสุคนธ์ ( กดที่นี่ เพื่ออ่านรายละเอียด การค้นพบ ครั้งใหม่ ) และจากการค้นพบนก และ รัง ในครั้งนั้น CITES จึงได้เปลี่ยนสถานะของ นกแต้วแล้วท้องดำ เป็น นกที่อยู่ใน ภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง มีบันทึกการเก็บซากตัวอย่างของนกชนิดนี้เท่าที่มีหลักฐานสืบค้นได้ ว่าก่อนปีค.ศ. 1916 มีซาก ตัวอย่างที่เก็บรักษาไว้ในที่ต่างๆทั่วโลก ประมาณ 62 ตัวอย่าง

แหล่งที่เคยพบนกชนิดนี้ในอดีต

พม่า ที่ Lenya ในเขตเทนเนอซาลิม (เขตอิทธิพลของกะเหรี่ยง เดิม ) , Sungei Baleihgyi , Telok Besar , Maliwun , Bankachon ( Bankasoon ) , Kampong Pulo , Tantao ทั้งหมดอยู่ในเขตเทนเนอซาลิม

ประเทศไทย พบครั้งแรกที่บ้านเกาะหลัก ติดชายแดนประเทศพม่า จ. ประจวบคีรีขันธ์ , บ้านครัวกลาง อ.ห้วยยาง ที่ตำแหน่ง 11 องศา 50 ลิบดาเหนือ และ 99 องศา 40 ลิบดาตะวันออก พบในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1952 , อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนปี ค.ศ. 1983 , คลองบางไล อ.ท่าแซะ จ. ชุมพร ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1910 , ระนอง 1875 - 1877 , ต. ท่าชนะ คลองยาน เดือน มกราคม 1981 , บ้านเกาะคราม จ.สุราษฎร์ธานี เดือน มิถุนายน - กรกฎาคม 1913 , หมู่บ้าน คลองยาน ต. คีรีรัฐนิกรม พบ 2 คู่ ในผืนป่าหย่อมเล็กๆ ในปี ค.ศ. 1988 , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คลองพระยา พบ 4 แห่ง แต่อยู่ภายนอกเขตฯ ในปี 1987 จากนั้นไม่พบที่นี่อีกเลย จนกระทั่ง มาพบตัวผู้ 1 ตัว ในปี ค.ศ. 1992 , คลองวังหีบ ซึ่งอยู่ตอน เหนือของ อำเภอทุ่งสง จ. นครศรีธรรมราช พบทำรัง 1 คู่ ในปี 1915 , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาพนมเบญจา พบตัวเมียเต็มวัย 2 ไม่เต็มวัย 1 และ นกตัวผู้ 1 ตัว พร้อมกันนี้ได้พบรังที่นี่ด้วย ในเดือนสิงหาคม 1936 , บ้านสวนมะพร้าว , คลองทุ่งใส จ. ภูเก็ต พบตัวผู้ 1 ตัว ในปี 1917 , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขานอจู้จี้ - เขาประบางคราม และ ป่าสงวนแห่งชาติบางคราม ใกล้บ้านบางเตียว อ. คลองท่อม จ. กระบี่ ในเดือนมิถุนายน 1986 ซึ่งที่นี่ยังคงพบอยู่จนถึงปัจจุบัน , อ่าวตง อ.วังวิเศษ อีกฟากหนึ่งของเขานอจู้จี้ อยู่ในเขตจังหวัดตรัง พบ 1 คู่ แต่คาดว่ามีถึง 5 - 6 คู่ จากการสำรวจในเดือน ธันวาคม 1986 โดยพบนกยึดครองพื้นที่หากินอยู่ 4 เขต , คลองมอญ พบในเดือน กุมภาพันธ์ 1986 ซึ่งพร้อมกันนี้มีการพบ Giant Ibis ที่นี่ด้วยในเดือนเดียวกัน , บ้านลำพูลา (ลำลา) เก็บตัวอย่างได้ 8 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 1910 , บ้านควนขัน (เกาะขัน) พบในเดือนมกราคม 1910 , เขากระช่อง (เขาช่อง) จังหวัดตรัง เก็บตัวอย่างได้ 4 ตัว ในเดือนธันวาคม 1909

ลักษณะแหล่งอาศัยหากิน จากข้อมูลการค้นพบในอดีต และ ปัจจุบัน พอจะบอกได้ว่า นกแต้วแล้วท้องดำ จะอาศัยอยู่ในป่าผสมกึ่งผลัดใบเฉพาะแบบของพม่า (เขตเทนเนอซาลิม) และป่ามรสุมเขตร้อน แบบประเทศไทย ในเขตการ แพร่กระจายแถบ 7 องศาเหนือ และ 12 องศาเหนือ และมีลักษณะเกือบจะเป็นนกเฉพาะถิ่น พื้นที่อาศัยแคบมาก ต้องเป็นป่า รก ทึบ พืชชั้นล่าง รกทึบ แต่ต้องมีอาหารสมบูรณ์ เป็นที่ราบต่ำใกล้เชิงเขา มีลำธารสาขาขนาดเล็กกระจายอยู่ในพื้นที่ สภาพ ชุ่มชื้นตลอดปี บางแห่งนกปรับตัวอยู่ได้ในป่าชั้นรอง ที่มีพืชชั้นล่าง ปกคลุมหนาแน่น , ป่าที่เพิ่งฟื้นตัวใหม่ๆ , อาศัยอยู่ได้ใน สวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน , แม้จะเป็นหย่อมป่าเล็กๆ ที่ขนาบข้างด้วยนาข้าว , ชายป่าดิบ . เคยสำรวจพบในป่าสวนยาง ปลูกใหม่ ต้นยางสูงเพียงเมตรกว่าๆ โดยมีลำธารขนาดเล็กไหลผ่าน แต่อย่าเชื่อข้อมูลของกรมป่าไม้ ที่บอกว่า นกชนิดนี้ ปรับตัว อยู่ได้ในแหล่งเกษตรกรรม และ ที่อยู่อาศัยของคนเป็นอันขาด , ความชุ่มชื้น และ พุ่มไม้ที่รกทึบ ปกคลุม พื้นป่า เป็น ความต้องการอย่างยิ่งของนกชนิดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่หากินบนพื้นป่า ซึ่งธรรมชาติของพื้นป่า ที่รกทึบ ตามพื้นป่าจะมีใบไม้แห้ง หล่นทับถมกันอยู่ เป็นแหล่งอาศัยของไส้เดือนดิน ซึ่งเป็นอาหาร หลัก ของนกแต้วแล้วท้องดำ

จากสภาพพื้นที่ของเขาประบางคราม จะมีความสูงอยู่ระหว่าง 80 - 140 เมตร แต่โดยเฉลี่ย จะพบนกอยู่ต่ำกว่า 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล แม้ว่าความสูงที่ยอมรับกันว่า นกแต้วแล้วท้องดำ อาจอยู่ได้สูงถึงระดับ 250 เมตร จากระดับน้ำทะเล

อาหาร นกแต้วแล้วท้องดำ หาอาหารโดยใช้ปากพลิกใบไม้ เพื่อหาแมลง หรือ หนอนที่อยู่ใต้ใบไม้ บางครั้ง ใช้ปากขุดดินที่ร่วมซุย อาหารหลัก คือ หอยทาก หนอน ทาก ปลวก แมลง ตัวอ่อน และ ไข่ของแมลง ทุกชนิด จักจั่น ผีเสื้อ มวน จากการศึกษาอาหารที่พ่อแม่นกนำมาป้อนลูกที่รัง พบว่า 73 % คือ ไส้เดือน ที่เหลือ คือ แมลง สารพัดชนิด ที่พบ ใต้ ใบไม้ แห้งตามพื้นป่า

ฤดูทำรังวางไข่ เช่นเดียวกับนกแต้วแล้วชนิดอื่นๆ คือ จะทำรังในฤดูฝน หรือ ต้นฤดูฝน ของภูมิภาคที่มันอาศัยอยู่ ในประเทศไทยอยู่ในราว เดือน มีนาคม หรือ กลางเดือน มิถุนายน ซึ่งในฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้ จะส่งเสียงร้องประกาศ อาณาเขต มากที่สุดในช่วงกลางเดือนมิถุนายน และ จะค่อยๆเงียบเสียงลง เรื่อยๆ เมื่อเริ่มทำรังวางไข่ ในเขตเทนเนอซาลิม ตัวอย่างที่เก็บได้ มักอยู่ในเดือน เมษายน - พฤษภาคม - มิถุนายน ซึ่งไม่แสดงลักษณะว่าอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ จึงสันนิษฐาน ว่า ช่วงเวลาทำรังวางไข่ ในอดีต ที่เขตเทนเนอซาลิม จะแตกต่างจากนกที่อยู่ที่เขานอจู้จี้ . ในประเทศไทย ช่วงที่พบรัง มากที่สุด อยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายน เป็นต้นไป รังที่พบที่เขานอจู้จี้ จะอยู่ระหว่าง 23 พฤษภาคม ถึง 8 สิงหาคม และ ส่วนใหญ่ ที่สุด จะพบรังในเดือน มิถุนายน , จากรายงานของ โยธิน มีแก้ว เคยพบรังในเดือน มกราคม

รังแรก ที่พบที่ คลองวังหิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของ อ. ทุ่งสง พบในเดือน ตุลาคม ทำให้เชื่อว่า ฤดูผสมพันธุ์ ของนกแต้มแล้วท้องดำ ผันแปร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ หรือไม่ก็ นกมีการวางไข่มากกว่า 1 ครั้ง ในหนึ่งปี หรือ มีการ วางไข่ครั้งใหม่ ทดแทนครอกแรกที่ล้มเหลว

ทำรังเป็นรูปโดม หรือทรงกลม จากใบไม้ หรือ ใบไผ่แห้ง มีทางเข้าด้านหน้าทางเดียว รังจะอยู่ตามโคนกอไผ่ วางไข่ครอกละ 4 - 5 ฟอง แต่ที่เขานอจู้จี้ พบ 3 - 4 ฟอง เปลือกไข่สีขาว เป็นมัน มีจุดประ หรือขีด หรือเส้นหยุกหยิก สีน้ำตาล บนปื้นสีเทา ขนาดของไข่ 25.3 - 27 X 20 - 22.4 มม. , ก้นรังเป็นแอ่ง รองก้นรังด้วยรากไผ่ หรือ รากไม้ ไม่มีวัสดุใด รอง พื้นรัง บางครั้งพบรังที่ค่อนข้างแบน ไม่เป็นรูปโดมสูงมากนัก สร้างจากใบไม้แห้งขนาดใหญ่ และกิ่งไม้ขนาดเล็ก สานกัน หยาบๆ พอพยุงให้รังทรงรูปอยู่ได้เท่านั้น รังอาจอยู่โคนต้นไม้ หรือบนคบไม้ หรือ เถาไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งมักเป็นต้นไม้ที่ยาง เป็นพิษ สูงจากพื้นตั้งแต่ 1 - 2.4 ถึง 3 - 7 เมตร จากพื้นดิน บางครั้งทำรังบนกอต้นปาล์ม ต้นเร่ว กอหนาม , การวางไข่ อาจขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่เริ่มตก ซึ่งจะทำให้พื้นดินชุ่มชื้น และ มีปริมาณของไส้เดือนที่จะใช้เลี้ยงลูกได้มากขึ้น นกทั้งสอง เพศ ช่วยกันทำรัง กกไข่ และ เลี้ยงลูกอ่อน เคยพบจากการสำรวจ ในฤดูวางไข่ว่า นกตัวผู้ มีนกตัวเมีย ที่ทำรังอยู่ในละแวก ใกล้เคียงกันถึง 2 รัง ระยะการฟักไข่ อยู่ระหว่าง 10 -14 วัน และ นกในกรงเลี้ยงพบว่า ใช้เวลาฟักนานกว่า ถึง 20 วัน ในการเฝ้าสังเกตพบว่า ในรังที่มีไข่ 4 ฟอง นกใช้เวลาฟัก ในช่วงกลางวัน 7.5 ชม. ในช่วง 3 วันแรก ส่วนใหญ่นกตัวเมีย เป็นผู้ฟักไข่ สลับด้วยนกตัวผู้เป็นช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นๆของการฟัก นกตัวผู้จะนำอาหารมาป้อนให้นกตัวเมียที่กกไข่อยู่ ระยะเวลาที่ลูกนก ตั้งแต่เป็นไข่จนถึงออกจากรัง ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน อัตรารอดของลูกนกต่ำมาก ใน 14 รัง มีเพียง 4 - 5 รัง เท่านั้นที่สามารถฟักเป็นตัวได้โดยไข่ไม่ถูกศัตรูทำลายไปเสียก่อน ศัตรูสำคัญคือ งู ที่ชอบกินไข่ และ ลูกนก และอาจรวมถึงกินตัว พ่อแม่ นกด้วย

การอพยพย้ายถิ่น Hume และ Davidson เคยรายงานไว้ในปี ค.ศ. 1878 ว่า นกแต้วแล้วท้องดำ พบในบางฤดูกาล ในเขตเทนเนอซาลิม ตอนเหนือของเมือง Lenya จะเริ่มพบมาก ในตอนต้นเดือนกุมภาพันธุ์ และ จะเริ่มหายากไปเรื่อยๆ จนถึงกลางเดือนเมษายน แต่พอเข้าฤดูมรสุม นกจะหายไปหมด มีเพียงจำนวนน้อยมากที่ยังพบได้ในเดือน กรกฎาคม จึงยังไม่แน่ชัด และ คงไม่มีโอกาส รู้แล้วก็ได้ ว่า นกชนิดนี้อพยพตามแหล่งอาหาร หรือ มีการอพยพในประเทศใกล้เคียง หรือ ที่ไม่พบตัว เพราะ อยู่ในช่วงฤดูทำรังวางไข่ ซึ่งปกตินกชนิดนี้ก็หาพบตัว ยาก อยู่แล้ว ยิ่งนกไม่ส่งเสียงร้องในฤดูทำรัง ด้วยแล้ว โอกาสพบตัวยิ่งน้อยไปอีก การสังเกตการณ์จึงยากมาก ปัจจุบันจำนวนที่น้อยยิ่งกว่าน้อย จึงแทบจะเป็นนก ที่พบ เฉพาะถิ่นไปเสียแล้ว

บริเวณสำคัญที่เคยพบ และ ความหวังอันเลือนลางว่าอาจยังมีหลงเหลืออยู่ ได้แก่ อ. ท่าชนะ อ. คลองยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองพระยา อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา ป่าสงวน แห่งชาติเขาประ - บางคราม , เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าเขาประ - บางคราม เขานอจู้จี้ และ บริเวณที่เคยพบ ว่ามีอยู่ เมื่อ ปี ค.ศ. 1950 - 1979 อ. ห้วยยาง จ. ประจวบคีรีขันธ์ !!??

จำนวนประชากร ที่เขานอจู้จี้ ในปีที่สำรวจพบครั้งใหม่ ในปี ค.ศ. 1986 พบอย่างน้อย 39 คู่ ที่บ้านบางคราม ในเขตเขานอจู้จี้ และ 5 - 6 คู่ ที่ ต. อ่าวตง การสำรวจบ่งชี้ว่า นกชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำ จากการสำรวจในช่วงปี ค.ศ. 1987 - 1989 ประมาณการว่า ทั้งหมดในภาคใต้ตอนล่างของไทยอยู่ในราว 24 -48 คู่ โดยแบ่งเป็น 20 -30 คู่ ในเขต เขานอจู่จี้ โดยที่นี่ พบนกยึดครองอาณาเขตอยู่ราว 7 เขต ในปี ค.ศ. 1987 และ เพิ่มเป็น 9 เขต ในปี ค.ศ. 1988 ในฤดูผสม พันธุ์ ในบริเวณที่สำรวจอย่างจริงจัง ในเขตเขาประบางคราม พบจำนวนที่ยืนยันได้ 7 เขต มีเพียง 2 เขต ที่นกใช้ทำรังซ้ำที่เดิม ในระยะ 2 ปี ความหนาแน่นราว 9 - 15 คู่ ต่อพื้นที่ที่ใช้สำรวจ หรือเฉลี่ย 3.6 - 6.0 คู่ ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ในปี ค.ศ. 1992 พื้นที่เดิมถูกลักลอบ ทำลาย มากขึ้น พบเพียง 21 คู่ ในพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร ในเดือน มิถุนายน ค.ศ. 1992 ได้ยิน เสียงร้องของนกตัวผู้ 1 ตัว ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คลองพระยา และ จากการที่พื้นที่ถูกทำลาย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สำรวจพบเพียง 14 - 16 คู่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ - บางคราม ในปี ค.ศ. 1995 และ ลดลงเหลือ 9 คู่ ในปี ค.ศ. 1997 (ไม่มีการสำรวจที่ ต. อ่าวตง ) และ เมื่อมีการสำรวจที่ อ่าวตง ในปี ค.ศ. 1998 ไม่พบนกอีกเลย ในปี ค.ศ. 2000 จำนวน ประชากร ที่สำรวจพบ เหลือเพียง 24 ตัว

แล้วเราจะอนุรักษ์นกชนิดนี้ได้อย่างไร ?

1 การรักษาสภาพแวดล้อมที่นกอาศัยเป็นแหล่งสุดท้ายนี้ไว้ให้ได้ โดยหลักการที่ถูกต้องก็ควรเป็นเช่นที่ว่า แต่จากสภาพที่เป็นอยู่ แม้จะมีการประกาศเป็นเขตห้าล่าสัตว์ป่า และ ยกฐานะในอีก 2 ปี ให้หลังขึ้นเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่เนื่องจากสภาพการเป็นป่าในที่ราบต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์สูง จึงง่ายต่อการถูกบุกรุกทำลาย เป็นแหล่งเกษตรกรรม เหมือนเช่น เมื่อ 200 ปีก่อนที่ภาคกลางยังเป็นป่าที่ราบลุ่ม มีเนื้อสมันอุดมสมบูรณ์ตามท้องทุ่ง บัดนี้ สภาพป่าเขาประ - บางคราม ก็ถูกทำลายเป็นสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ เนื่องจาก การประสาน ผลประโยชน์ต่างตอบแทน ระหว่างข้าราชการท้องถิ่น และ นายทุนบุกรุกป่า และ ความอ่อนแอขององค์กรเอกชนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย เชื่อว่าไม่นาน ป่าที่อยู่อาศัย ที่เหมาะสม ของ นกแต้วแล้วท้องดำ นี้ต้องถูกทำลายหมดไปอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อดัชนีบ่งชี้ความสมบูรณ์ของป่านี้หมดไป น้ำในสระมรกต คงจะใกล้แห้งเหือด ความแห้งแล้ง ก็จะเริ่มมา เยือน สมตามความ ต้องการ ของชาวบ้านบริเวณนั้นแน่นอน

2 การเพาะเลี้ยงในกรงเลี้ยง ส่วนราชการที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าของไทย มีความสามารถในการเพาะเลี้ยง เป็ดก่า และ ไก่ฟ้าหลายชนิด เป็นผลสำเร็จ สมารถปล่อยสัตว์ที่เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้ส่วนหนึ่ง ของ คืนสู่ธรรมชาติได้บ้างแล้ว ย่อมเชื่อได้ว่าบุคลากรของไทย มีความรู้ความสามารถพอในการเพาะเลี้ยง เพื่อรักษา และ ขยายพันธุ์ นกแต้วแล้วท้องดำได้ เพราะในต่างประเทศ เคยมีรายงานการเพาะเลี้ยงนกแต้วแล้วท้องดำให้ ทำรัง และ ออกไข่ในกรงเลี้ยงได้ ที่สวนสัตว์ซานดิเอโก และ แหล่งสะสมสัตว์ของเอกชน ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ คานาดา ซึ่งแม้จะไม่สามารถเลี้ยงจนเพิ่มจำนวนขึ้นได้ แต่การที่สามารถเลี้ยงจนนกทำรัง ออกไข่ และ ฟักเป็นตัวได้ (แม้จะตายภายหลัง เนื่องจากเลี้ยงร่วมกับนก ชนิดอื่น ที่อาจเป็นสาเหตุของการทำลายไข่ และ ลูกนก ) และการที่นกแต้วแล้วท้องดำ สามารถอยู่ในสภาพที่อยู่อาศัยแบบเฉพาะเจาะจง และ ไม่กว้างขวางมากนัก จึงควรที่ส่วนราชการ ควรทดลองเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ พร้อมกับทำการวิจัยไปพร้อมๆกันได้ แม้จะมีข่าวที่ไม่ทราบที่มา เกี่ยวกับการทดลองปล่อย ในสถานที่อื่นเช่น สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี และ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คลองลำพระยา ถ้ามีการทำการเพาะเลี้ยงอยู่จริง ก็สมควรที่กรมป่าไม้จะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อการวิจัย และ การเพาะเลี้ยงให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งวิธีนี้ ดูจะเป็นความหวังเดียว ที่จะช่วยให้นกแต้วแล้วท้องดำ ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ต่อไปในโลกใบนี้

3 ควบคู่ไปกับการเพาะเลี้ยง คือการสำรวจ แลกเปลี่ยนข้อมูล กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจมีนกชนิดนี้หลงเหลืออยู่ในเขตเทนเนอซาลิม เพราะยังมีข่าวการลักลอบ ค้านก ผิดกฎหมาย ในตลาดค้านก โดยอ้างว่าจับมาจากเขตพม่าอยู่ ซึ่งจะจริงหรือ หลอกลวงนำนกไทย แต่หลอกว่าเป็นนกพม่า ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาความจริง ถึงแหล่งอาศัยที่แน่นอน และ ข้อมูลจากพื้นที่ใน ประเทศไทย อื่นๆ เนื่องจากเรายังไม่ทราบชีววิทยาของนกชนิดนี้อีกมาก เช่น นกต้องการอาณาเขตการหากินครอบคลุมสักเท่าใดต่อนก 1 คู่ , แหล่งอาหาร ประเภท ชนิดอาหาร ศัตรูตามธรรมชาติ และ อัตรา หรือ ความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของลูกนก เป็นต้น ก็ เป็นที่น่าวิตกว่า นกแต้วแล้วท้องดำ อาจสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะศึกษาจนรู้จักมันอย่างละเอียดได้ด้วยซ้ำ

แหล่งข้อมูล : " Threatened birds of Asia " By Birdlife International

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2552

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร


นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร


นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกตาพอง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudochelidon sirintarae (Thonglongya, 1968) ชื่อสามัญ White-eyed River-Martin เป็นนกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ นกนางแอ่น พบครั้งแรกบริเวณบึงบอระเพ็ด เมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

ลักษณะของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร มีความยาวจากปากจดหาง ประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบ เรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบ ลักษณะโดยทั่วไป ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงินเข้ม บางส่วน บริเวณหน้าผาก มีกระจุกขนสีดำ คล้ายกำมะหยี่ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตา และ ม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ขนบริเวณตะโพกสีขาว ตัดกับสีของลำตัว ขนหาง มนกลม แต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมา เป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม. มองเห็นได้ชัดเจน บริเวณใต้คอสีน้ำตาลอมดำ แข้ง และ ขา สีชมพู

อุปนิสัยของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

อุปนิสัย แหล่งผสมพันธุ์วางไข่และที่อาศัยในฤดูร้อนยังไม่ทราบ ในบริเวณบึงบอระเพ็ดนกเจ้าฟ้าจะเกาะนอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่นๆ ที่เกาะอยู่ตามใบอ้อ และใบสนุ่นภายในบึงบอระเพ็ดบางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อนกลุ่มนกเหล่านี้มีจำนวนนับพันตัว อาหารเชื่อว่าได้แก่แมลงที่โฉบจับได้ในอากาศ

แหล่งที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจาย

อาศัยอยู่ตามดงอ้อและพืชน้ำในบริเวณบึงบอระเพ็ด พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น พบในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว

การค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

ในปี พ.ศ. 2510 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัญจุบันคือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) ได้ทำการดักจับนกนางแอ่นจากบึงบอระเพ็ด เพื่อทำการศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ และในระหว่างเดือน มกราคม–กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 คุณกิตติ ทองลงยา ได้เป็นผู้ค้นพบนกตัวหนึ่งที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากนกนางแอ่นอื่นๆ ที่จับได้ นกตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่านกนางแอ่นทั่วๆไปมาก ขนเป็นสีดำคล้ำ ตาขาวและใหญ่ ปากและสะโพกสีขาว หางกลมมน ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาอย่างชัดเจน

จากการตรวจสอบขั้นต้นยังไม่สามารถที่จะจำแนกนกชนิดนี้เข้ากับนกสกุลใดๆของประเทศไทยได้ ดังนั้น คุณกิตติ ทองลงยา จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างของตัวเบียน คือ เห็บ เหา และไร ของนก ส่งไปให้ สถาบันสมิทโซเนียน และ บริทิชมิวเซียม ช่วยตรวจและวิเคราะห์หาชนิดของนกดังกล่าว ผลก็คือมันมีเหาชนิดเดียวกับนกนางแอ่นเทียมสกุล Pseudochelidon ซึ่งพบในแถบซึ่งพบในแถบลุ่มน้ำคองโก แอฟริกา และจากนั้นได้ทำการเปรียบเทียบลักษณะอวัยวะต่างๆ ภายในของนกตัวนี้กับตัวอย่างนกนางแอ่นเทียมคองโก (Pseudochelidoninal eurystominal) จึงลงความเห็นว่านกตัวนี้จะต้องเป็นนกในสกุล Pseudochelidon อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากว่านกในสกุลนี้เคยมีเพียงชนิดเดียวคือ นกนางแอ่นเทียมคองโก ดังนั้นนกที่ค้นพบที่บึงบรเพ็ดนี้ นักปักษีวิทยาทั่วโลกจึงยอมรับว่าเป็นนกสกุล Pseudochelidon ชนิดใหม่ของโลก

นักปักษีวิทยาของเมืองไทยต่างมีความเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา (พระยศขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ที่สนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอพระราชทานนามมาตั้งชื่อนกชนิดนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” หรือ White-eyed River Martin (Pseudochelidon sirintarae)
สถานภาพในปัจจุบัน

อนุสาวรีย์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่บึงบอระเพ็ดนกเจ้าฟ้าหญิงสิริธร เป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic species) ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก คือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นนกโบราณที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้น้อย จึงมีเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมาก มีรายงานการค้นพบที่สามารถยืนยันได้เพียง 10 ตัวเท่านั้น และจากรายงานการพบเห็นครั้งหลังสุด ในปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่ไม่ได้เห็นนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอีกเลย และจากการจัดให้มีการประชุมของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง สถานภาพทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย โดยกลุ่มนักชีววิทยาในประเทศไทย เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2539 นั้น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ได้ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ปัจจุบัน IUCN และสำนักงานนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อม (2540) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ซึ่งอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก เพราะ หลายปีที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานการพบนกชนิดนี้อีกเลย นอกจากนี้พระราชบัญญัติ คุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้จัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนอีกด้วย

สาเหตุของการใกล้สูญพันธ์

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกที่สำคัญในด้านการศึกษาความสัมพันธ์ของนกนางแอ่น นกชนิดที่มีความสัมพันธ์กับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมากที่สุด คือนกนางแอ่นคองโก (Pseudochelidon euristomina) ที่พบตามลำธารในประเทศซาอีร์ ในตอนกลางของแอฟริกาตะวันตก แหล่งที่พบนกทั้ง 2 ชนิดนี้ห่างจากกันถึง 10,000 กิโลเมตร ประชากรในธรรมชาติของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเชื่อว่ามีอยู่น้อยมาก เพราะเป็นนกชนิดโบราณที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่ละปีในฤดูหนาวจะถูกจับไปพร้อมๆกับนกนางแอ่นชนิดอื่น นอกจากนี้ที่พักนอนในฤดูหนาว คือ ดงอ้อ และพืชน้ำอื่นๆที่ถูกทำลายไปโดยการทำการประมง การเปลี่ยนหนองบึงเป็นนาข้าว และการควบคุมระดับน้ำในบึงบรเพ็ดเพื่อการพัฒนาหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อการคงอยู่ของพืชน้ำและต่อระบบนิเวศการอยู่อาศัยของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นอย่างมาก

นกขมิ้น

นกขมิ้น
นกขมิ้น

นกขมิ้น


นกในวงศ์นกขมิ้นมีสายวิวัฒนาการอยู่ระหว่างนกแซงแซว (Dicruridae) และวงศ์อีกา (Corvidae) แต่มีรูปร่างลักษณะและอุปนิสัย แตกต่างจากนกทั้งสองวงศ์นี้มาก คืออีกาและนกแซงแซวส่วนใหญ่จะมี ลำตัวเพรียว หางยาว หรือค่อนข้างยาว นิสัยค่อนข้างก้าวร้าวไม่กลัวคน แต่ นกขมิ้นซึ่งเป็นนกที่มีลำตัวขนาดกลางถึงขนาดเล็ก มีความยาวตัวประมาณ 20-27 เซนติเมตร ขนาดเท่านกเอื้ยง หางสั้น สีตัวส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง มีบางชนิดเป็นสีอื่นบ้าง จะงอยปากแข็งแรงและงุ้มลง ปีกยาวแหลม นกตัวผู้มีสีสดใสสวยงามกว่านกตัวเมีย ลูกนกมีลายขีดสีดำกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ท้อง

นกขมิ้นเป็นนกที่ชอบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ในป่าบก ป่าชายเลน และตาม สวนผลไม้ ส่วนใหญ่หากินอยู่ตามเรือนยอด หรือพุ่มใบของต้นไม้ รวมอยู่ กับนกชนิดอื่นๆ เช่น นกแซงแซว นกพญาไฟและนกไต่ไม้ พบหากินเงียบๆ อยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยพบลงมาหากินตามพื้นล่าง กินผลไม้ แมลง และน้ำหวานดอกไม้เป็นอาหาร บินได้เร็วและทนนาน ชอบทำรังอยู่ตาม ง่ามไม้ บนต้นไม้สูง รังอยู่สูงประมาณ 4-10 เมตร สร้างรังเป็นรูปถ้วย ก้นลึก ทำด้วยต้นหญ้าหรือเส้นใยพืชร้อยถักอย่างประณีต วางไข่ ครั้งละ 2-4 ฟอง ทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูก นกขมิ้นชอบ สร้างรังใกล้ๆ รังของนกแซงแซวเพื่อให้นกแซงแซว ช่วยป้องกันไข่และลูกนก จากศัตรู เนื่องจากนกแซงแซวจะป้องกันไข่และลูกนกของมันเองจากศัตรู ดังนั้นจึงช่วยป้องกันไข่และลูก นกขมิ้นด้วย

นกขมิ้น แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่งมี 4 ชนิด คือ

1.นกขมิ้นหัวดำเล็ก
2.นกขมิ้นหัวดำใหญ่
3.นกขมิ้นท้ายทอยดำ
4.นกขมิ้นปากเรียว

กลุ่มที่สองมี 2 ชนิด คือ

1.นกขมิ้นแดง
2.นกขมิ้นขาว

นกเงือก


นกเงือก

นกเงือก


นกเงือก



นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย

นกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขัง ตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก

นกเงือกในประเทศไทย

ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ซึ่งในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ใน จังหวัดนครราชสีมา มี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะหรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และ นกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงืกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง

รายชื่อนกเงือกที่พบในประเทศไทย

นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง Great Hornbill, Buceros bicornis
นกเงือกหัวแรด Rhinoceros Hornbill, Buceros rhinoceros
นกเงือกหัวหงอก White-crowned Hornbill, Berenicornis comatus
นกชนหิน Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil
นกแก๊ก หรือ นกแกง Oriental Pied Hornbill, Anthracoceros albirostris
นกเงือกดำ Black Hornbill, Anthracoceros malayanus
นกเงือกคอแดง Rufous-necked Hornbill, Aceros nipalensis
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว Austen's Brown Hornbill, Anorrhinus austeni
นกเงือกสีน้ำตาล Tickell's Brown Hornbill, Anorrhinus tickelli
นกเงือกปากดำ Bushy-crested Hornbill Anorrhinus galeritus
นกเงือกปากย่น Wrinkled Hornbill, Aceros corrugatus
นกเงือกกรามช้าง หรือนกกู่กี๋ Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus
นกเงือกกรามช้างปากเรียบ Plain-pouched Hornbill, Rhyticeros subruficollis