วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นกจาบคาหัวเขียว - Blue-tailed Bee-ester

Blue-tailed Bee-esterนกจาบคาหัวเขียว (Blue-tailed bee-eater) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Merops philippinus เป็นนกในตระกูล Meropidae จัดเป็นนกอพยพชนิดหนึ่ง มีแหล่งผสมพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางครั้งอาจถูกจัดให้อยู่ในสปีชีส์เดียวกับนกจาบคาแก้มฟ้า (Merops persicus)

นกชนิดนี้มีรูปร่างเพรียว มีสีสันสวยงาม โดยจะมีสีเขียวเด่นเป็นพิเศษ บริเวณใบหน้ามีแต้มสีฟ้าเล็กๆ และมีแถบยาวสีดำอยู่ตรงดวงตา ขนที่คอเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล หางเป็นสีห้า และจงอยปากสีดำ สามารถเจริญเติบโตได้ยาว 23-26 เซนติเมตร โดยรวมความยาวของขนหางตรงกลางสองเส้นที่ยาวกว่าบริเวณอื่นด้วย

นกจาบคาหัวเขียวมีแหล่งผสมพันธุ์ในพื้นที่ชนบทกึ่งเขตร้อน อย่างเช่นในไร่ สวน นาข้าว หรือสวนสาธารณะ มักพบได้บ่อยครั้งบริเวณใกล้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กินแมลงชนิดต่างๆเป็นอาหารเหมือนนกจาบคาชนิดอื่น โดยเฉพาะผึ้ง ต่อ และแตน โดยจะโผลบินพุ่งออกจากที่พักเกาะไปจับเหยื่อกลางอากาศ เหยื่อจะถูกจับกลับไปที่พักเกาะ แล้วใช้จงอยปากจิกเหยื่อจนตายและเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มร่างกายแตกออก สำหรับนกจาบคาชนิดนี้ พบว่าเหยื่อที่ล่ามีทั้งผึ้งและแมลงปอในปริมาณที่มากพอๆกัน

นกจาบคาหัวเขียวชอบสร้างรังอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ตามริมฝั่งแหล่งน้ำที่เป็นทรายหรือพื้นที่ราบเปิดโล่ง รังมีลักษณะเป็นเหมือนอุโมงค์ค่อนข้างยาว นกชนิดนี้จะวางไข่ทรงกลมสีขาวครั้งละ 5-7 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเฝ้าดูแลไข่ด้วยกัน นอกจากนี้ เวลาออกหากินหรือพักเกาะตามที่สูง ก็มักจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเช่นกัน

ลักษณะทั่วไป
ทั้งตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ปากสีดำไม่โค้งแหลมมากนัก หัวหลังและขนคลุมหลังตลอดจนปีกเป็นสีเขียวครึ่งของหลัง ขนคลุมโคนหางและหางเป็นสีน้ำเงิน มีขนคู่กลางของหางแหลมยื่นยาวออกไปประมาณครึ่งหนึ่งของหาง บริเวณแถบหน้าของตาและหลังของตาเป็นแถบสีดำ ม่านตาสีน้ำตาลแดง ถัดขอบตาลงมาเป็นสีขาวอมเหลือง ใต้คอเลยหน้าอกนิดๆเป็นสีน้ำตาล ท้องสีเขียวอ่อน ตีนดำ เวลาบินรูปปีกจะมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ใต้ปีกเป็นสีน้ำตาล กึ่งบินกึ่งร่อน ขณะบินส่งเสียงร้องกริ๊วๆๆไปด้วย ชาวบ้านจึงชอบเรียก "นกกะติ้ว" ขนาดประมาณ 30 ซม.เมื่อโตเต็มวัยจากปลายปากถึงปลายหาง จะเจาะรูทำรังอยู่ริ่มตลิ่งที่ค่อนข้างสูงชันมีลักษณะดินปนทราย ลึกประมาณ 60 ซม. 90 ซม. วางไข่ประมาณ 2 - 4 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูก อาหารจะเป็นพวกแมลงที่บินอยู่กลางอากาศ เช่น แมลงปอ ผีเสื้อ จะไม่กินอาหารหรือแมลงที่ตายแล้วหรืออยู่กับที่

ถิ่นที่อยู่อาศัย
เนปาล, อินเดีย, ศรีลังกาและไทย สำหรับประเทศไทยมีทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่น ในส่วนบริเวณภาคกลางและริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยจะเป็นนกประจำถิ่น แต่สำหรับทางภาคเหนือจะเป็นนกที่อพยพเข้ามาหากิน และผสมพันธุ์ ส่วนภาคอื่นหรือบางส่วนก็จะหากินสักพักแล้วอพยพผ่านไป

--------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลจาก...Outdoor Adventure Magazine (นิตยสารท่องธรรมชาติ)/Vol.1/No.12/May 1995
โดย...มงคล วงศ์กาฬสินธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น