วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

นกขุนทอง - Hill Myna

นกขุนทอง (Gracula religiosa)
นกขุนทอง (Gracula religiosa) หรือนกเอี้ยงคำ เป็นสัตว์ปีกในตระกูลนกเอี้ยง มีถิ่นอาศัยอยู่ทั่วไปในเอเชียใต้ มีนิสัยพูดเก่งเหมือนนกแก้ว จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นนิยมสูง

ถิ่นที่อยู่อาศัย
ถิ่นแพร่พันธ์หลักของนกขุนทองพบได้ในบริเวณโคนเทือกเขาหิมาลัย ไกล้เขตแดนอินเดีย เนปาล และ ภูฏาน แต่พบได้ใน ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม สุมาตรา อินโดนีเซีย และ บอร์เนียว และถูกนำเข้าไปอเมริกาด้วย
สร้างรังบนกิ่งไม้สูง อาศัยอยู่เป็นกลุ่มประมาณหกตัวขึ้นไป

ลักษณะทั่วไป
ลำตัวป้อมสีดำ มีเหนียงสีเหลืองอมส้มคลุมทั่วท้ายทอยและเหนียงสีเหลืองแดงสดใต้ตา ขนาดประมาณ 29 ซม. ขนสีดำเหสือบเขียว มีเงาสีม่วงบริเวนหัวและคอ มีสีขาวแซมใต้ปีก ปากสีแดงส้ม ขาสีเหลืองสด ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน
ชอบร้องเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำ ร้องเป็นเสียหวีดสูงตามด้วยเสียงอื่นๆ เคลื่อนไหวบนกิ่งโดยเน้นการกระโดดข้างแทนการเดินต่างจากนกเอี้ยงทั่วไป
เพศผู้และเพศเมียมีลักษณะเหมือนกัน ไม่สามารถดูได้จากตาเปล่า จะต้องใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ เช่น DNA sexing, การตรวจเลือด
นกขุนทองมีอายุประมาณ 10-20 ปี

เสียงร้อง
นกขุนทองนั้นมีชื่อเสียงเรื่องเสียงร้องหลากหลายชนิด ทั้งหวีด กรีดร้อง กลั้ว ร้องเป็นทำนอง รวมถึงเลียนแบบเสียงมนุษย์ ซึ่งทำได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย นกหนึ่งตัวจะมีเสียงร้องตั้งแต่ 3 ถึง 13 ชนิด มีการเลียนแบบเสียงร้องกันโดยเฉพาะในเพศเดียวกัน แต่รัศมีในการเรียนรู้นี้ส่วนใหญ่น้อยกว่า 15กิโลเมตรลงไป
มีความเข้าใจผิดทั่วไปว่านกขุนทองนั้นชอบเลียนแบบเสียงร้องนกพันธุ์อื่นๆ แต่ที่จริงแล้วพฤติกรรมนี้ไม่มีโดยธรรมชาติ แต่เฉพาะในสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

อาหาร
นกขุนทองกินทุกอย่างทั้งพืชและสัตว์ เช่นผลไม้ ลูกไม้ น้ำดอกไม้ และแมลงต่างๆ
นกขุนทองไม่สามารถดูดน้ำได้ พวกมันจะใช้การจุ่มปากลงไปในน้ำเพื่อให้น้ำเข้าปาก จากนั้นมันจะยกหัวขึ้นเพื่อให้น้ำเข้าไปในคอหอย วิธีการนี้เป็นวิธีที่พวกมันจะกินน้ำได้ง่ายที่สุด

พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
อาศัยตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ชอบเกาะยอดกิ่งไม้สูง ๆ อยู่กันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ตามป่าลึกเชิงเขามีชุกชุม เชื่องคน คนนิยมเลี้ยงเพราะสามารถพูดเลียนเสียงคน นกขุนทองผสมพันธุ์เดือนเมษายน-มิถุนายน ทำรังออกไข่ในโพรงไม้สูง ปูโพรงด้วยเศษหญ้าแห้ง ขน สิ่งสกปรก ตลอดจนเปลือกไม้ ไข่ชุดละ 2-3 ฟอง

โดยทั่วไปการหลับของนกขุนทองจะเป็นการหมอบหรือย่อตัวบนคอน, รังของมัน มันจะหดตัวลงมาที่บ่า ใบหน้าตั้งตรงและปิดตา ถ้าเราสังเกตดูจะพบว่ามันมักจะหลับตลอดทั้งวัน บางครั้งมันอาจจะยืนขาเดียวในระหว่างที่มันพักผ่อน นาน ๆ ครั้งมันจะเอาหัวเข้าไปหลบในขน นกขุนทองมักจะงีบหลับตลอดทั้งวัน แต่มันจะนอนหลับในเวลากลางคืน

นกขุนทองชอบการอาบน้ำมาก พวกมันมักจะเล่นน้ำอย่างน้อย 2 ครั้งต่อ 1 วัน หลังจากอาบน้ำ มันมักจะสะบัดตัวและไซร้ตามขนเพื่อให้ตัวแห้ง นกขุนทองมักจะสั่นหัวเพื่อให้น้ำที่หูออกมา พวกมันจะจามเพื่อเอาน้ำออกจากรูจมูก การอาบน้ำของนกขุนทองมักเกิดในเวลาว่าง

สถานภาพปัจจุบัน
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช

สำหรับในประเทศไทย พบว่ามีนกขุนทองอยู่ 2 ประเภท คือ

  1. ขุนทองเหนือ (Gracula religiosa intermedia : G.r. intermedia)
    จะมีรูปร่างเล็กกว่าขุนทองใต้ เหนียงแก้มจะมีลักษณะเป็นแผ่นยาวตลอดเป็นชิ้นเดียวกันทั้งแผ่น
    พบในบริเวณเหนือคอคอดกระขึ้นมา
  2. ขุนทองใต้ (Gracula religiosa : G.r. religiosa)
    จะมีขนาดใหญ่ แผ่นเหนียงใต้ตาจะมีรอยเว้าแยกออกเป็น 2 ส่วนไม่ติดกัน
    พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
    อาจจะเรียกว่า นกขุนทองควาย

ข้อมูลจาก www.vet.ku.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น