วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

นกพญาไฟสีเทา

นกพญาไฟสีเทา
นกพญาไฟสีเทา

นกพญาไฟสีเทา






นกพญาไฟสีเทา อยู่ในวงศ์ย่อย อีกา ซึ่งนกในวงศ์นี้มีขนาดเล็กมาก จนถึงขนาดกลาง และ รูปร่างภายนอกแตกต่างกันมาก ทั่วโลกมี 4 เหล่า ประเทศไทย มี 3 เหล่า คือ เหล่าอีกา เหล่านกแอ่นพง และ เหล่านกขมิ้น ซึ่ง นกพญาไฟสีเทา อยู่ในเหล่านกขมิ้น นกในเหล่านี้ ในประเทศไทย มี 5 สกุล คือ สกุลนกขมิ้น สกุลนกขี้เถ้าและนกเฉี่ยวบุ้ง สกุลนกเขนน้อยคิ้วขาว สกุลนกพญาไฟ และ สกุลนกเขนน้อย

สกุลนกพญาไฟ Genus Pericrocotus ชื่อสกุลมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ peri แปลว่า รอบๆ หรือ มาก croc หรือ Krotos แปลว่า สีส้ม ความหมายคือ " นกที่มีร่างกาย ส่วนใหญ่ เป็น สีส้ม " นกในสกุลนี้ มีลักษณะเด่นคือ มีสีค่อนข้างฉูดฉาด โดยเป็นสีแดง และ เหลือง , ปาก ยาวประมาณครึ่งหนึ่ง ของ ความยาวของหัว , ปาก แข็งแรง เป็นปากขอเล็กน้อย ตอนปลายเป็นรอยบาก รูจมูกทั้งหมดคลุมด้วยขน , ปีกยาว ปลายปีกแหลม , หางยาว เป็นหางบั้ง , ขา ไม่ค่อยแข็งแรง . ทั่วโลกมีนกในสกุลนี้ 13 ชนิด ประเทศไทยพบ 9 ชนิด คือ 1 นกพญาไฟสีกุหลาบ ( Rosy minivet ) 2 นกพญาไฟตะโพกสีน้ำตาล ( Brown - rumped Minivet หรือ Swinhoe's Minivet ) , 3 นกพญาไฟสีเทา ( Ashy Minivet ) , 4 นกพญาไฟเล็ก ( Small Minivet ) , 5 นกพญาไฟเล็กคอดำ ( Fiery Minivet ) , 6 นกพญาไฟคอเทา ( Grey - chinned Minivet ) , 7 นกพญาไฟพันธุ์เหนือ ( Long - tailed Minivet ) , 8 นกพญาไฟแม่สะเรียง ( Short - billed Minivet ) และ 9 นกพญาไฟใหญ่ ( Scarlet Minivet )

นกพญาไฟสีเทา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pericrocotus divaricatus ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ divaric หรือ divaricare แปลว่า ส่วนที่แยกออกไป และ tus เป็นคำลงท้าย ความหมายคือ " นกที่มีลักษณะไม่เหมือน นกพญาไฟ อื่นๆ " หรือ นกที่มีส่วนอื่น ( หาง) ยื่นยาวออกไป มากเท่าความยาวของลำตัว

รูปร่างลักษณะ เป็นนกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจดหาง 20 ซม. ชนิดย่อยที่มีการแพร่กระจายมากที่สุด และ ใช้เป็นชนิดอ้างอิงหลัก คือ P . d . divaricatus มีรูปร่างลักษณะดังนี้ คือ

นกตัวผู้ บริเวณหน้าผาก และ ลำตัวด้านล่าง สีขาว มีเส้นสีดำลากผ่านตา , กลางกระหม่อม และ ท้ายทอย สีดำ โคนขนปีก มีลายแถบสีขาว เมื่อนกเกาะหุบปีกอาจมองเห็นไม่ชัด แต่ เห็นได้ชัดขณะบิน , ซึ่งนกตัวผู้บางตัว อาจไม่มีลาย สีขาว ที่กลางปัก , ขนหางคู่นอก ส่วนใหญ่เป็นสีขาว , ไหล่ และ ขนคลุมหางด้านบน สีเทา แต่ การที่หน้าผาก และ ลำตัวด้านล่าง มีสีขาวครีม เป็นลักษณะเด่น ที่เห็นได้แต่แรกของนกชนิดนี้

นกตัวเมีย ตั้งแต่ กระหม่อม ลงไปถึง ท้ายทอยสีเทา และ ลำตัวด้านล่าง สีเทา โดยที่บางส่วนของกระหม่อม จะมีสีเข้มบางส่วน มีแถบสีขาวลากจากหน้าผากผ่านตา และ มีแถบสีดำจางๆบริเวณหน้าผาก
นกในขนชุดฤดูแรก คล้ายนกตัวเมีย แต่ สีขาวที่ลำตัวด้านล่าง จะยังเป็นสีขาวตุ่นๆอยู่ ขากลางปักด้านที่ติดกับลำตัว มีสีดำ ขนคลุมกลางปีก มีขอบขนสีขาว ซึ่งมักเป็นลักษณะทั่วไป ของนกที่อยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ในปีนั้น ซึ่งจะมีลักษณะของขนใหม่ที่เพิ่งงอกยังไม่เต็มที่ ปะปนกับขนชุดวัยเด็กที่ยังผลัดไม่หมด เพราะนกจะไม่ผลัดขนพร้อมกันทั้งตัว แต่จะ ทยอย ผลัดขนบางส่วนที่ โดยเริ่มจากหัวลงไปหาลำตัวก่อน ( บางชนิดผลัดขนที่ลำตัวก่อน ) และ ผลัดขนปีก เป็นชุดสุดท้าย ก่อนจะเป็นนกที่มีขนแบบ นกที่โตเต็มวัย ( การดูลักษณะ การผลัดขนนี้ เป็นประโยชน์มาก ในการจำแนก ชนิด เพศ วัย และ อายุ ของ เหยี่ยว และ อินทรี )

นกที่ยังไม่เต็มวัย ไม่มีสีขาวที่กระหม่อม ลำตัวด้านบน มีลายแต้มสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่าง มักสีลายแถบสีเทา

นิสัยประจำพันธุ์ มักพบอยู่เป็นฝูง และ อาจพบหากินร่วมกับ นกกินแมลง ชนิดอื่น โดยเฉพาะ นกกระจิ๊ด , นกจับแมลง และ นกพญาไฟใหญ่ . มักเกาะตามยอดไม้ และ กิ่งไม้ในระดับ กลางต้น ถึง เรือนยอด แต่บางครั้งอาจบินไล่ตามแมลง ลงมาที่กิ่งต่ำๆได้

แหล่งอาศัยหากิน พบได้ในป่าหลายแบบ เช่น ตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าสนเขา ป่าชั้นรอง ป่าละเมาะ ป่าโกงกาง ป่าโปร่งตามชายฝั่งทะเล หย่อมป่าตามสันดอนปากแม่น้ำ . ช่วงที่อพยพมาถึงใหม่ๆ อาจพบตามสวนสาธารณะขนาดใหญ่ หรือ สถานศึกษาที่มีต้นไม้ปลูกไว้จำนวนมาก จนคล้ายสวนป่า ในพื้นที่ใกล้กรุงเทพ อาจพบได้ตามสถานที่ ที่มีลักษณะดังกล่าว เช่น สวนลุมพินี , สวนหลวง ร.9 , พุทธมณฑล ต. ศาลายา , ม.มหิดล วิทยาเขตศาลายา , ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน , สนามบินกำแพงแสน , ค่ายลูกเสือกำแพงแสน จ. นครปฐม เป็นต้น ปกติ พบได้ตั้งแต่พื้นราบ จนถึงระดับความสูง 1 , 200 เมตร จากระดับ น้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่จะพบ ตาม พื้นราบมากกว่า
อาหารได้แก่แมลง โดยการจิกกิน ตามยอดไม้ และ กิ่งไม้ ไม่บ่อยนัก ที่จะไล่จับกินแมลง กลางอากาศ ใกล้กิ่งที่เกาะ

ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ แหล่งทำรังวางไข่อยู่ทาง ตะวันออกเฉียงใต้ ของ ไซบีเรีย , Ussuriland , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แหล่งทำรังวางไข่ ของนกชนิดนี้ อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร การคมมาคมไม่มี หรือ ไม่สดวก จึงยังไม่มีการศึกษา และ ข้อมูล การทำรัง วางไข่ และระยะเวลาการ เลี้ยงลูกอ่อน ของนกชนิดนี้

การแพร่กระจายพันธุ์ นอกจากที่แหล่งทำรังวางไข่ในไซบีเรีย แล้ว ยังพบได้ใน ภาคเหนือ ภาคใต้ ของเกาหลี , ญี่ปุ่น . ในฤดูหนาว นกที่อาศัยในเขตหนาวทางตอนเหนือ จะอพยพย้ายถิ่น ลงใต้ มาหากินที่ สุมาตรา บอร์เนียว และ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ สำหรับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกอพยพในฤดูหนาว นอกฤดูผสมพันธุ์ที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ในประเทศแถบนี้ ยกเว้นไม่พบ ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของ เมียนม่าห์ , เขตเทนเนอซาลิม , ภาคตะวันตกของตังเกี๋ย และ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ของอันนัม ในเวียตนาม ) มีรายงานการพบเป็นนกอพยพผ่าน ของ กัมพูชา และ ภาคตะวันออก ของตังเกี๋ย

อนึ่ง รายงานการพบนก ตามประเทศทางแถบชายฝั่งทะเล เป็นแนวทางให้ทราบถึง เส้นทางการอพยพย้ายถิ่น ของ นกชนิดนี้ และ ใช้คาดคะเนชายฝั่งด้านที่นกจะอพยพขึ้นฝั่งได้ เพราะ นกอพยพ จะบินเข้าฝั่งจากเส้นทางที่สั้นที่สุด และ บินเลียบตามแนวชายฝั่ง ในกรณีพวกที่อพยพลงใต้ไป ถึงออสเตรเลีย มีพวกนกแอ่น และ นกทะเลบางชนิดเท่านั้น ที่แข็งแรงพอที่จะบินตัด ข้าม มหาสมุทร นอกนั้นส่วนใหญ่จะบินเลาะชายฝั่งทวีป จะบินตัดข้ามช่องแคบ เข้าหาแผ่นดิน โดยใช้ช่องทางข้ามผืนน้ำ ที่สั้นที่สุด เพราะการอพยพ ข้ามผืนน้ำ มีอันตรายมาก จากสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลง และ พายุที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นกพวกที่แข็งแรง และ บินในระดับสูงมากเท่านั้น ที่จะใช้เส้นทางตัดข้ามหาสมุทร ส่วนนกเล็กๆ ( Arctic warbler และ Arctic Tern เป็นข้อยกเว้นพิเศษ ) จะแวะพักเติมพลังงาน เป็นระยะๆ ตามแนวเลียบชายฝั่งทะเล ดังนั้น ป่าละเมาะเล็กๆ ตามชายฝั่งทะเล แถบ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร เป็นสถานที่ที่ นักดูนก ควรให้ความสนใจ ในตอนต้นของ ฤดูอพยพ ทั้งเที่ยวมา และ เที่ยวกลับ เพราะอาจพบนกอพยพหายาก ที่แวะพักก่อนอพยพลงใต้ หรือ กลับไปแหล่งผสมพันธุ์ทาง ตอนเหนือ

สำหรับประเทศไทย เป็นนกอพยพผ่าน และ นกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย เป็นนกพญาไฟ ที่พบได้ในที่ราบ อีกชนิดหนึ่ง คือ นกพญาไฟเล็ก ซึ่งพบได้ในที่ราบ แม้แต่ตามสวนผลไม้ หรือ ตามวัด ที่มีต้นไม้เหลืออยู่มาก ผิดไปจากความเข้าใจเดิม ที่นักดูนกมักรู้จักนกพญาไฟใหญ่ เป็นตัวแรกในกลุ่มนกพญาไฟ ด้วยกัน จนมีความรู้สึกว่า นกพญาไฟ จะพบได้ ในป่า บนพื้นที่สูงเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้น สำหรับนกพญาไฟสองชนิด ที่กล่าวแล้ว นกพญาไฟสีเทา แม้จะเป็นนกที่ไม่มีสีสันสดใส แบบนกพญาไฟชนิดอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย และ เวลาที่พบ ก็มักจะพบได้บ่อย และ มีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าเฉลียวใจสักนิด จะรู้ว่า เรามิได้พบเห็นมันตลอดทั้งปี จะพบมากก็เฉพาะ ในฤดูหนาวเท่านั้น เลยจากนั้นไปแล้ว เราจะไม่พบตัวมันเลย ไม่ว่าจะในที่ราบ หรือ ตามพื้นที่สูง จะพบแต่ นกพญาไฟเล็กเท่านั้น นั่นก็เพราะ นกพญาไฟสีเทา เป็นนกอพยพ มาในฤดูหนาว และ บางพวกก็เพียงอพยพผ่าน จะเห็นมัน เป็นฝูง เล็กๆ เพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นไปดูอีกในที่เดิม ก็ไม่พบเสียแล้ว

ให้ระวังอีกตัวหนึ่งที่คล้ายกัน คือ นกพญาไฟตะโพกสีน้ำตาล ( Brown - rumped Minivet ) ซึ่งเป็นนกอพยพเหมือนกัน นกตัวผู้ จะมีคิ้วสีขาว ตะโพก และ ขนคลุมโคนขนหางด้านบน สีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนนกตัวเมีย แถบปีกสีขาว จะมีลายแต้ม สีเหลือง ตัวไม่เต็มวัย ตะโพก และ ขนคลุมโคนหางด้านบน สีจางกว่า แถบลายปีก สีเหลืองแกมเขียว ซึ่งพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

แหล่งข้อมูล : " นกในเมืองไทย " โดย รศ. โอภาส ขอบเขตต์

" A field guide to the birds of Thailand and South - east Asia " by Craig Robson

ภาพโดย Photographer : มล. ธาตุทอง ทองแถม ( Tattong Tongtham ) , พลวัฒน์ สุขวิวัฒน์ ( Pholwat Sukwiwat )

2 ความคิดเห็น:

  1. วันนี้พบพญาไฟสีเทา 5 ตัว บินจับแมลงในหมู่บ้านไดเรคเตอร์ทาวน์ที่บางบัวทอง ต. บางรักพัฒนา นนทบุรี
    สุกันยา วรรณเกษม
    10 มกราคม2555

    ตอบลบ